; แนะนำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค-โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

  โรงพยาบาลแมคคอร์มิค มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย พันธ์กิจทางการแพทย์ในเชียงใหม่และภาคเหนือ เริ่มมาตั้งแต่ การพัฒนาของการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุข ที่เข้ามาสู่เชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทย โดยคณะมิชชันนารีจนก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในปัจจุบัน ด้วยมีประวัติศาสตร์มายาวนานดังนี้

ศาสนาจารย์ ดานิเอล แมคกิลวารี

   ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2410 ศาสนาจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ได้พบผู้เจ็บป่วยจึงได้ให้ยาแผนปัจจุบันที่ติดตัวมาแจกจ่ายช่วยเหลือและให้บริการทางสาธารณสุข นับว่าเป็นการเริ่มต้นด้านการแพทย์และสาธารณสุขแผนปัจจุบัน ต่อมาเพลสไบทีเรียน สหรัฐอเมริกาได้ส่งแพทย์มิชชันนารีเข้ามา ทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข คือ

  พ.ศ.2415 นายแพทย์ ชาลส์ เวสลี่ วรูแมน ซึ่งเป็นแพทย์แผนปัจจุบันคนแรกเข้ามาประจำ ได้ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยและได้เปิดสถานที่จำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ขึ้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือสถานีกาชาดที่ 3 เชียงใหม่ )

  พ.ศ.2418 นายแพทย์แมเรียน เอ.ซีค เข้ามารับงานต่อจากนายแพทย์ชาลส์ เวสลี่ วรูแมน

  พ.ศ.2429 นายแพทย์ เอ เอ็ม แครี่ เข้ามารับงานต่อจากนายแพทย์แมเรียน เอ.ซีค และ ในปี พ.ศ.2429 นี้ คณะกรรมการกลางเพลสไบทีเรียน สหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐมาสร้างโรงพยาบาลแต่ว่าจำนวนไม่เพียงพอ คณะมิชชันนารีในเชียงใหม่ จึงปรับปรุงสถานที่จำหน่ายยาเป็นโรงพยาบาลขึ้นให้ชื่อว่าโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น ในปี พ.ศ.2431 ได้เปิดให้การรักษาผู้ป่วยและทำการผ่าตัดเป็นต้นมา นับว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองในประเทศไทยและเป็นโรงพยาบาลแรกในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ปัจจุบัน

โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น

   พ.ศ.2432 นายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น การผลิตหนองฝีในการป้องกันโรคฝีดาษที่ระบาดในเวลานั้นและ เป็นผู้นำเครื่องทำยาเม็ดควีนิน เข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกามาทำยาเม็ดควีนิน (เรียกกันว่า ยา อม. ย่อมาจากอเมริกันมิชชั่น )จำหน่ายและแจกจ่าย แก่ประชาชนในเชียงใหม่และภูมิภาคในการบำบัดรักษาโรคไข้มาลาเรีย

นายแพทย์เอ็ดวิน ชาลร์ส คอร์ท

  พ.ศ. 2458 นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส คอร์ท ได้ มาเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น หลังจากเคยมาช่วยงานที่เชียงใหม่ปี พ.ศ. 2451 นายแพทย์ อี ซี คอร์ท ได้พัฒนาการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงพยาบาล ไปอย่างก้าวหน้าและยั้งยืน โดย พ.ศ.2459 ได้ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2466 โรงเรียนนางพยาบาลและผดุงครรภ์ แมคคคอร์มิค ขึ้นเพื่อที่จะมีบุคลากรทางการแพทย์และการพยาบาล ในการรักษาผู้เจ็บป่วยตามมาตรฐานของการบำบัดรักษาที่ทันสมัย

  ด้วย สถานที่ของโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น คับแคบขยายตัวไม่ได้ และความต้องการด้านการแพทย์ของประชาชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว นายแพทย์อี. ซี. คอร์ท ได้คิดทำการสร้างโรงพยาบาลใหม่ขึ้น และความเห็นชอบของคณะมิชชั่นนารีและด้วยเงินบริจาค25,000 เหรียญสหรัฐ ของ Mrs.Nettic Fowler McComick ภรรยาของ Mr.Cyrus Hall McCormick เมืองซิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากทุนทรัพย์นี้และได้รับสมทบจากเจ้านายฝ่ายเหนือและพ่อค้าคหบดีชาวเชียงใหม่ นายแพทย์ อี ซี คอร์ท จึงซื้อที่นา 50 ไร่ที่บ้านหนองเส้ง และบริษัทบอร์เนียว จำกัด ได้บริจาคที่ดินให้เพิ่มเติมอีก จึงได้สร้างโรงพยาบาล ขึ้นด้านตะวันออกแม่น้ำปิง อันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน

Mrs.Nettic Fowler McComick

พระเจ้าบรมวงค์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก

  ในปี พ.ศ.2463 นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส คอร์ท ได้เริ่มสร้างโรงพยาบาลในที่แห่งใหม่ขึ้น โดยมีพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก โรงพยาบาลแห่งใหม่ได้สร้างเสร็จ ในปี พ.ศ.2467 ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 4 หลังแรก คือ อาคารบริการผู้ป่วยนอก (ตึกผ่าตัด ) อาคาร AB (ตึกผู้ป่วยใน) อาคารโภชนาการและอาคารผู้ป่วยพิเศษ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้บริจาคเงินทุน คือ Mrs.Nettic Fowler McComick จึงให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค”

อาคารโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในปี พ.ศ.2467

  ในวันเสาร์ปลายปี พ.ศ.2467 นายแพทย์ อี ซี คอร์ท และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้ใช้เกวียนและเปลหามคนไข้ ขนย้ายคนไข้จำนวน 80 คนจากโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น มายังโรงพยาบาลที่สร้างใหม่

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2467 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค พร้อมหม่อมสังวาลย์ สงขลา หลังที่ทรงกระทำพิธีเปิดแล้ว พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ทั่วแล้วจึงรับสั่งว่า ความต้องการใหญ่ยิ่งของโรงพยาบาล คือต้องการแพทย์ เพิ่มขึ้น เวลานั้นแพทย์ชาวอเมริกันมีเพียงนายแพทย์ อี ซี คอร์ท คนเดียวพระองค์ทรงรับสั่งว่า จะทรงพระราชทานค่าเดินทางและเงินเดือนแพทย์ให้คนหนึ่ง ในปีต่อมาจึงได้ นายแพทย์ เฮนรี่ อาร์ โอไบรอัน มาร่วมทำงานในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นเวลา 4 ปี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

  วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

อาคารสงฆ์อาพาธ

   ในปี พ.ศ. 2470 นายแพทย์ อี ซี คอร์ท ได้สร้างอาคารสงฆ์อาพาธ ด้วยเงินบริจาคทั้งหมดของ หลวงอนุสารสุนทร เป็นอาคารแบบทรงไทย ล้านนา

   ในปี พ.ศ. 2471 (นับประดิทินเดิม )นายแพทย์คอร์ท ได้สร้างตึกหลวงอนุสารสุนทร ด้วยเงินบริจาคของหลวงอนุสารสุนทร เป็นตึกสำหรับคลอดบุตรและดูแลทารก

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดตึกสูติกรรม

  วันเสาร์ ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดตึกสูติกรรม (ตึกหลวงอนุสารสุนทร )และวางศิลาฤกษ์ตึก ณะ เชียงใหม่ของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 (ประดิทินเดิม) สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาเปิดตึก ณะเชียงใหม่

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

   วันที่ 25 เมษายน ถึง วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1929( พ.ศ. 2472 )สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จมาทรงงานแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ประทับที่บ้านพัก นายแพทย์เอ็ดวิน ชารล์ส คอร์ท

บ้านพัก นายแพทย์ เอ็ดวิน ชาร์ลส คอร์ท

   ในปี พ.ศ. 2482 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างตึกมหิดล ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เพื่อเป็นพระอนุสรณ์รำลึก แด่สมเด็จพระบรมราชชนก และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

ตึกมหิดล(หลังเดิม)

   วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2484 พลตรีอาทิตย์ ทิพอาภา ผู้แทนในพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดตึกมหิดล

  ในระหว่าง พ.ศ.2485 – พ.ศ.2489 อยู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเข้ายึดควบคุมกิจการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค พันตรีนายแพทย์บุลศักดิ์ (ทองดี ) วัฒนผาสุก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการและได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นโรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์

  ใน ปี พ.ศ.2489 เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการได้คืนโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่ถูกยึดครองให้กับคณะมิชชั่นนารี นายแพทย์ เอ็ดวิน ชาร์ลส คอร์ท ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2489

  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2492 นายแพทย์เอ็ด วิน ชาร์ลส คอร์ท ได้เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกษียณอายุงาน

  ปี พ.ศ. 2492 -พ.ศ.2503 นายแพทย์บุญชม อารีวงค์ รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอร์มิค วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2501

  ปี พ.ศ.2503 -พ.ศ.2506 นายแพทย์จินดา สิงห์เนตร รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ.2506) – พ.ศ.2507 นายแพทย์บุญชม อารีวงค์ รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้มีการสร้างตึกอำนวยการ

นายแพทย์พิพัฒน์ ตรังรัฐพิทย์

  ปี พ.ศ.2507 - พ.ศ.2528 นายแพทย์พิพัฒน์ ตรังรัฐพิทย์ รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในช่วงเวลานี้โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้มีการส่ง บุคลากรของโรงพยาบาล ศึกษาทางการแพทย์ การพยาบาลและการบริหารจัดการ และได้จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ทันสมัยเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอ็กซเรย์ อุปกรณ์ในห้องผ่าตัดเป็นต้น ด้านการ พัฒนาอาคารสถานที่ มีการสร้างอาคารของโรงพยาบาล คือ อาคารผู้ป่วยพิเศษของตึกมหิดลเพิ่มเติม 2 ชั้น (อีก 15 ห้อง) อาคารแผนกผู้ป่วยนอก ตึกเด็ก (อาคารวิบูลย์สันติ) ตึกผ่าตัด (มีแผนกผู้ป่วยหนัก แผนกจ่ายกลาง แผนกกายภาพบำบัดและแผนกผ่าตัด ) ตึกผู้ป่วยอายุรกรรม (ตึกOrt) อาคารรักษาศพ ตึกเฮเลนนิวแมน และ ตึก 95 ปี (อาคารโภชนาการ)

นายแพทย์จอห์น เจ กุยเยอร

  ปี พ.ศ.2529 - พ.ศ.2533 นายแพทย์จอห์น เจ กุยเยอร รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์จอห์น เป็นผู้นำเครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า มาใช้ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในปี พ.ศ. 2501 เป็นเครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า ( ECG)เครื่องแรกที่มีใช้ในโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ในปี พ.ศ.2532 ได้มีการสร้างตึกมหิดลหลังใหม่

นายแพทย์จอห์น รับมอบเครื่อง ECG

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ตึกมหิดล วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2535

  ปี พ.ศ. 2533 - พ.ศ.2545 ผู้ปกครองธีระพงศ์ ฉิมะวงษ์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ได้มีพิธีเปิดตึกมหิดลหลังใหม่ ในปี 2535 และสร้างตึกพระพรและอาคารจอดรถพระพร

  ปี พ.ศ. 2546 – 2548 แพทย์หญิงวารุณี ใจประเสริฐ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ.2548 – พ.ศ.2549 นายแพทย์พิพัฒน์ ตรังรัฐพิทย์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ.2549 – พ.ศ.2550 ผู้ปกครองพงษ์ ตนานนท์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ.2550 - พ.ศ.2552 นายแพทย์ศิษฐจิต ชัยรัตน์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ สร้างอาคารผู้ป่วยนอกสำหรับเด็ก

  ปี พ.ศ.2552 - พ.ศ.2554 นายแพทย์อดุล วรินทรเวช รับตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้มีการปรับปรุง แผนกผู้ป่วยนอก และติดตั้งระบบปรับอากาศในแผนกผู้ป่วยนอกทั้งหมด

  ปี พ.ศ.2554 - พ.ศ.2556 นายแพทย์แสงโรจน์ ประดับแก้ว รับตำแหน่งผู้อำนวยผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ.2556 – พ.ศ.2556 นายแพทย์ทินกร สถิรแพทย์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ. 2556 - พ.ศ.2561 แพทย์หญิงอุษณีย์พร ศรีมินิพันธ์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้พัฒนาการแพทย์ การพยาบาลและ ระบบการบริการผู้ป่วยให้ได้มาตราฐาน จนได้รับการรับ HA และได้สร้างหอพักแพทย์ อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ติดตั้งระบบปรับอากาศในอาคารผู้ป่วยแบบระบบน้ำหล่อเย็นและระบบสาธารณูปโภคในโรงพยาบาล

  ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน นายแพทย์มาโนช เล้าวงค์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่ง โรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ของอาคารผู้ป่วย และสถานที่ให้บริการ รวมถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมด้วยบุคลากร คอยให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้การให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน มีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ ด้วยความรัก ตามแบบอย่างขององค์พระเยซูคริสต์

  เราจึงไม่ได้มุ่งเน้นทำพันธกิจเพียงแค่การรักษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลจิตใจและจิตวิญญาณ ผ่านงานทางด้านพันธกิจเยี่ยมเยียน เพื่อให้กำลังใจ และอธิษฐานเผื่อผู้เจ็บป่วย และครอบครัว โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลแมคคอร์มิคได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นสถานพยาบาลที่เคียงข้างชาวเชียงใหม่ จากรุ่นสู่รุ่น จากความสนิทสนม จนเกิดเป็นความรักความผูกพัน เสมือนเป็นดั่งญาติพี่น้อง ครอบครัวแมคคอร์มิคจึงเป็นบ้านหลังใหญ่ ที่ทุกคนสามารถไว้วางใจได้ว่า จะได้รับการดูแลด้วยความรักอย่างดีที่สุด

พันธกิจและวิสัยทัศน์

แผนยุทธศาสตร์โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
McCormick Hospital Strategic Plan

พันธกิจ

ประกาศพระกิตติคุณพระเจ้าผ่านการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพด้วยความรัก

ตามแบบพระเยซูคริสต์โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และ ฐานะทางเศรษฐกิจ

วิสัยทัศน์

เป็นโรงพยาบาลแห่งความไว้วางใจ

ที่ให้บริการรวดเร็วปลอดภัยด้วยมาตรฐานและเข้าถึงได้

ค่านิยมหลัก

MAKES GOOD CARE, CUSTOMER FOCUS, HAPPINESS

ให้การรักษาและบริการที่ดี ใส่ใจผู้รับบริการ ทำงานอย่างมีความสุข

สมรรถนะหลักองค์กร

"จงปฏิบัติต่อคนอื่น เหมือนอย่างที่พวกท่าน
ปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน" ลูกา6:31
ความรู้และทักษะทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ
จิตบริการที่ดี ซื่อสัตย์ โปร่งใส

เข็มมุ่ง 2021

บริการฉับไว ความปลอดภัยเป็นเลิศ

คณะผู้บริหาร

รางวัลคุณภาพโรงพยาบาล

มาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล Hospital Accreditation (HA) Of Thailand
ผ่านการตรวจสอบคุณภาพการตรวจวินิจฉัยตามเกณฑ์และข้อกำหนดของ โครงการประกันคุณภาพภายนอกด้านเซลล์วิทยานรีเวช จาก สมาคมเซลล์วิทยาแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
ผ่านการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ Laboratory Accreditation (LA)
ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 (Covid-19)ด้วยวิธี Real-time RT-PCR
รางวัลประกาศเกียรติคุณระทอง ตามโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ Zero Accident Campaign ประจำปี 2563
รางวัลเกียรติยศสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2565 ระดับประเทศ(ระดับแพลทินัม) ปีที่ 19
รางวัลดีเด่น ด้านการบริหารค่ารักษาพยาบาล “Bangkok Life Assurance SMART Hospital Awards 2019” จาก บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต
รางวัลเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่นสาขาเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำปี 2562
รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ด้านความสำเร็จ มีคุณภาพและเข้าใจความต้องการของลูกค้า ประจำปี 2562
เกียรติบัตร โรงพยาบาลที่มีคุณธรรม ธรรมาภิบาลสูง ราคาและค่าบริการโปร่งใส เป็นธรรม ประจำปี 2562

พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า

โครงการพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า

ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

ณ ที่นี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกได้ประทับที่ บ้านพักของนายแพทย์เอ็ดวิน ชารลส์ คอร์ท ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค โดยนายแพทย์เอ็ดวิน ชารลส์ คอร์ท ได้จัดชั้นบนให้เป็นที่ ประทับของพระองค์ท่าน โดยมีมิสซิสมาร์เบล คอร์ท ภริยาของท่าน เป็นผู้ถวายการ ดูแลที่ประทับ รวมถึงเครื่องเสวยทุกมื้อให้แก่พระองค์ท่านเป็นอย่างดียิ่ง

มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย จึงได้มีมติที่ ส.-ด.412/2014 เห็นชอบให้ โรงพยาบาลแมคคอร์มิคดำเนินการโครงการพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า โดยทำการบูรณะ อาคารบ้านพักนายแพทย์ เอ็ดวิน ชารลส์ คอร์ท เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเพียงแห่งเดียว ในประเทศไทย ที่จัดแสดงพระราชประวัติอันงดงามเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในการ ทรงงานแพทย์ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ที่ทรงเป็นแบบอย่างใน การเสียสละ ทุ่มเทพระวรกายในการดูแลรักษาผู้ป่วยสามัญชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นแรงบันดาลใจให้แก่อนุชนรุ่นหลังในการดำเนินชีวิต และปฏิวัติวิชาชีพในด้าน มนุษยธรรมต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูน พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดช วิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผน ปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย
2. เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ การ พยาบาล การสาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพใน ประเทศไทย ในการปฏิบัติวิชาชีพตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
3. เพื่อแสดงเรื่องราวพันธกิจของมิชชันนารีและโรงพยาบาล แมคคอร์มิคด้านการแพทย์สมัยใหม่ ในอดีต

งบประมาณการดำเนินการ

งบประมาณโครงการพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ทั้งสิ้น 35 ล้านบาท

ระยะเวลาการดำเนินงาน

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2557 - เดือนมกราคม พ.ศ.2561

ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนสร้าง

"พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า"
โดย โอนเงินเข้าบัญชีชื่อ
โครงการพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า (โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
เลขที่บัญชี 731-2-25078-3
หรือ กองทุนพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ศิริราชมูลนิธิ
โรงพยาบาลศิริราช รหัสกองทุน D3561
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์ : 080 7483010

หมายเหตุ : เพื่อสะดวก ถูกต้อง และรวดเร็วในการออกใบเสร็จ
กรุณาส่งหลักฐานการโอนเงินไปที่
ฝ่ายการเงินโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
โทรศัพท์ 080 7483010
หรือ E-mail : acc_mccormick@hotmail.com
หรือ Facebook : www.facebook.com/doctorprincemuseum/
หรือ LINE ID : oithip1749 หรือ ทางไปรษณีย์


พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

"สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงได้รับพระราชทาน นามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ

ทรงศึกษาวิชาแพทย์จนสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม เมื่อปี ค.ศ.1928 จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐ อเมริกาพระองค์จึงเสด็จกลับประเทศไทย โดยขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศสูงยิ่งเป็นสยามมกุฏราชกุมาร จึงทำให้พระองค์ไม่สามารถทรงงานด้านการ แพทย์ได้ดั่งพระประสงค์ในกรุงเทพฯ พระองค์จึงเสด็จมาทรงงานด้านการแพทย์ดังแพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 25 เดือนเมษายน พ.ศ.2472 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เสด็จมาถึงจังหวัดเชียงใหม่เวลา 18.30 น. โดย รถไฟ เทศาภิบาลมณฑลพายัพให้การรับเสด็จ พระองค์ทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม รวมเวลาทั้งหมด 21 วัน ทรงปฏิบัติงานเยี่ยงแพทย์สามัญชน ทรงงานโดยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาอย่างดีเยี่ยมต่อผู้ป่วยทุกคน ด้วยพระวิริยะอุตสาหะโดยไม่เลือก ชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา และด้วยพระกรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณนี้ พสกนิกรได้พร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามว่า "หมอเจ้าฟ้า"

พระองค์ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1929 โดยจะเสด็จถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และตั้งพระทัยว่า เมื่อทรงเสร็จสิ้นพระราชภารกิจแล้ว จะเสด็จกลับมาทรงงานแพทย์ที่เชียงใหม่ต่อไป แต่สมเด็จพระบรม ราชชนกก็ไม่สามารถจะเสด็จกลับมาทรงงานแพทย์ดั่งพระทัยได้ เนื่องจากทรงพระประชวรและเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.1929 อันเป็นวัน แห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการแพทย์และการสาธารณสุขไทย

พระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1925 ทรงอุดหนุนทางการแพทย์ โดยพระองค์ทรงพระราชทานเงิน ส่วนพระองค์ ออกค่าเดินทางและเงินเดือนให้แก่คณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่นที่สหรัฐอเมริกา จ้าง นพ.เฮนรี่ อาร์โอไบร์อัน (R.O. Brian) แพทย์ชาวอเมริกัน มาเป็นแพทย์ช่วยที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค 4 ปี เสด็จมาทรงงานแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1929 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1929 ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญ ทรงรักษาผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะและความเป็นอยู่อย่างไร ดังเช่นพระราชกรณียกิจต่อไปนี้

- ทรงออกตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก
- ทรงโปรดรักษาเด็ก และโรคประสาทต่างๆ ซึ่งทรงตรวจอย่างละเอียดละออ
- ทรงทำงานทางด้านห้องทดลองและชันสูตร อาทิ Blood Film, Blood grouping ทรงตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยพระองค์เอง
- ทรงออกตรวจที่แผนกผู้ป่วยใน ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน
- ทรงเข้าร่วมในการผ่าตัดผู้ป่วย
- ทรงสละพระโลหิตของพระองค์ในการ Blood matching เพื่อช่วยชีวิตเด็กชายบุญยิ่งที่ถูกกระสุนปืนลั่นถูกที่แขน

พระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ทรงพระราชทานเงิน 3,000 ดอลล่าร์ เพื่อซื้อเครื่อง x-ray ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้เก็บไว้ ณ อาคารมหิดล และทรงปรารภว่า จะขยาย โรงพยาบาลให้กว้างขวางขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันมากมายต่อพสกนิกรชาวเหนือนี้ พระองค์จึงได้รับขนานพระนามว่า "หมอเจ้าฟ้า"

มูลนิธิ อี ซี คอร์ต

ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิ อี ซี คอร์ต ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 เพื่อเป็นการระลึกถึงนายแพทย์ เอ็ดวิน ซี คอร์ต และภรรยา ซึ่ง เป็นมิชชั่นนารีชาวอเมริกันผู้ได้ให้ความกรุณาเมตตาและเสียสละความสุขสบายอุทิศตนให้แก่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในการ นำแพทย์แผนใหม่สู่อาณาจักรล้านนา โดยท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 เป็นเวลากว่า 40 ปี ได้ช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บป่วยจำนวนมากให้พ้นความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ได้สร้างชื่อเสียง เกียรติคุณในด้านการบริการทางการแพทย์และเป็นที่ยอมรับกว้างไกลทั่วประเทศไทย ก่อนที่ท่านจะกลับภูมิลำเนา ท่านได้ บริจาคเงินจำนวน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ซึ่งเป็นเงินตราขณะนั้นตั้งไว้เป็นทุนสำหรับเก็บผลประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ป่วย ยากไร้ของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค มูลนิธิ อี ซี คอร์ต จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่านทั้งสอง

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ อี ซี คอร์ท

1. เพื่อเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่
2. เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ที่ตั้งของมูลนิธิ อี ซี คอร์ท

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เลขที่ 133 ถ.แก้วนวรัฐ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000

รายชื่อคณะกรรมการดำเนินการ เมื่อเริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ มีคณะกรรมการ ดังนี้

1. นาย เค อี แวลส์
ประธานกรรมการ
2. นายแพทย์จินดา สิงหเนตร
กรรมการ
3. พระยาวิทยาศัย ธรรมวิศิษฐ์
กรรมการ
4. นายกี นิมมานเหมินทร์
กรรมการ
5. นายแพทย์ ซี แอล บิสเซล
กรรมการและผู้จัดการ
6. นายศิลา ชีวกานต์
กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการชุดปัจจุบัน

1. พญ.อาริดา จันทร์แจ่ม
ประธานกรรมการ
2. นายธีระพงศ์ ฉิมะวงษ์
รองประธานกรรมการ
3. นพ.ทินกร สถิรแพทย์
กรรมการ
4. นางรุจิรา อินทรตุล
กรรมการ
5. นายชัชวาล ไชยเศรษฐ
กรรมการ
6. นางอ้อยทิพย์ หิมะกลัส
กรรมการและเหรัญญิก
7. นางศรีวิไล ปริ้นซ์
กรรมการและเลขาธิการ

ในช่วงปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา คณะกรรมการได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ดังนี้

ปี พ.ศ.2546-2554
บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จำนวนเงิน 2,035,733.73 บาท (สองล้านสามหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสามสิบสามบาทเจ็ดสิบสามสตางค์)

ปี พ.ศ.2548
บริจาคเงินจำนวน 889,948 บาท (แปดแสนแปดหมื่นเก้าพันเก้าร้อยสี่สิบแปดบาทถ้วน) เพื่อซื้อเครื่องเตรียมชิ้นเนื้ออัตโนมัติและเครื่องหล่อบล็อกพาราฟิน สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการแผนกพยาธิวิทยา โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ปี พ.ศ.2551-2552
บริจาคเงิน 410,000 บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เพื่อซื้อเครื่อง EKG และซื้อกล้องส่องท่อน้ำดีให้แก่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ปี พ.ศ.2555-2559
- บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จำนวน 3,095,616.00 บาท (สามล้านเก้าหมื่นห้าพันหกร้อยสิบหกบาทถ้วน) และ สนับสนุนโครงการธารพระพรสู่ โรค Kawasaki จำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)

ปี พ.ศ.2560-2561
- บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จำนวน 1,970,933.35 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นเก้าร้อยสามสิบสามบาทสามสิบห้าสตางค์) และ สนับสนุนโครงการธารพระพรสู่ โรค Kawasaki จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)

ปี พ.ศ.2562
- บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จำนวน 452,077.40 บาท (สี่แสนห้าหมื่นสองพันเจ็ดสิบเจ็บบาทสี่สิบสตางค์)

ปี พ.ศ.2563
- บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จำนวน 856,416.00 บาท (แปดแสนห้าหมื่นหกพันสี่ร้อยสิบหกบาทถ้วน)