; กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

       โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบที่กระเพาะปัสสาวะบริเวณท้องน้อยซึ่งเป็นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนี้

มักเกิดกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-50 ปี      
                                    

       โดย 50 % ของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะสักครั้งหนึ่งในชีวิต สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก มีความยาวเพียงประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย


ปัจจัยเสี่ยง

       1.  ดื่มน้ำน้อย
       2.  ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ
       3.  หลังการมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อช่องคลอดและมดลูก
       4.  ชอบสวนล้างช่องคลอด
       5.  สตรีวัยหมดประจำเดือน
       6.  ต่อมลูกหมากโตในผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป
       7.  กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
       8.  ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สูบบุหรี่
       9.  คนชรา
       10.ผู้ป่วยโรคนิ่ว
       11.ผู้ที่เคยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ
       12.การคุมกำเนิดโดยยาฆ่าอสุจิ ฝาครอบปากมดลูก (Diaphoagm)

 

การวินิจฉัย

       1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย
       2. การตรวจน้ำปัสสาวะและการเพาะเชื้อน้ำปัสสาวะ จะพบเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรียในน้ำปัสสาวะ

การรักษา 

       1. การใช้ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ) ซึ่งมีหลายชนิด ระยะเวลารักษาส่วนใหญ่ ประมาณ 3 - 7 วัน  ถ้าโรคมีความซับซ้อนต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษาประมาณ 10 - 14 วัน โดยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ถูกต้อง ครบตามกำหนด เพื่อป้องกันเชื้อโรคดื้อยา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น ภายใน 2 - 3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงจำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับยาฆ่าเชื้อหรือต้องรักษาวิธีอื่นเพิ่มเติม
       2. ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร หรือประมาณ 8 - 10 แก้ว เพื่อจะให้ปัสสาวะขับเชื้อแบคทีเรียออกมา
       3. รับประทานยาลดอาการปวดเกร็งท้องน้อย ทำให้อาการปวดท้องน้อยปัสสาวะบ่อยดีขึ้น



การป้องกัน

       1. ดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร
       2. งดกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ
       3. งดสวนล้างช่องคลอด ล้างเฉพาะบริเวณด้านนอกและซับให้แห้ง
       4. ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยถุงยางอนามัย
       5. ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆหาย ๆ เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต
       6. ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
       7. ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองเป็นประจำเพราะจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้ง่าย