; ความดันโลหิตสูง (Hypertension) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ความดันโลหิตสูง (Hypertension)



        โรคความดันโลหิตสูง คือภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โรคความดันโลหิตสูง แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และชนิดทราบสาเหตุ

สาเหตุ

  1. ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ 90-95 มักไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจมีสาเหตุของกรรมพันธุ์ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น รับประทานอาหารเค็ม ความอ้วน น้ำหนักเกิน ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ หรืออาการติดสุรา เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง ที่ไม่ทราบสาเหตุจะไม่หายขาด จำเป็นต้องได้รับการรักษาตลอดไป เพื่อลดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา
  2. ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 จะพบสาเหตุ เช่น โรคไต โรคของหลอดเลือด โรคต่อมหมวกไต โรคความดันสูงในหญิงตั้งครรภ์ หรือจากยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ผู้ป่วยที่ทราบสาเหตุนี้หากขจัดต้นเหตุได้ ความดันโลหิตสูงก็จะหายไป

 

 

อาการและอาการแสดง

        ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีอาการอะไร จะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจพบโดยบังเอิญหรืออาจมีอาการ

  • ปวดศีรษะ จะปวดบริเวณท้ายทอย มักปวดตอนเช้า
  • ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ มึนงง
  • เลือดกำเดาออก
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

การรักษา

  1. การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตประจำวันไปสู่การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ และการมีกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย
  2. การรักษาโดยการใช้ยาลดความดันโลหิต

ภาวะแทรกซ้อน

        ความดันโลหิตสูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มักจะทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบตัน ส่งผลให้อวัยวะที่สำคัญเสื่อมหน้าที่ได้แก่

  • หัวใจ อาจเกิดหัวใจโต หรือกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนขาดเลือด มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวายเสียชีวิตเฉียบพลันได้
  • สมอง ทำให้สมองบางส่วนตาย จากการขาดเลือด หรือหลอดเลือดในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
  • ไต อาจเกิดภาวะไตวาย ทำให้มีการคั่งของสารที่เป็นพิษต่อร่างกายถึงแก่ชีวิตได้
  • ตา ทำให้สายตาเสื่อม ตามัว ตาบอด

 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้เป็นความดันโลหิตสูง

  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอไม่ควรเปลี่ยน ปรับขนาดหรือหยุดยาเอง
  2. ควรหลีกเลี่ยงอาหาร
  • ที่มีโซเดียมสูง คืออาหารที่มีรสเค็ม ควรงดการเติมเครื่องปรุงที่มีโซเดียม เช่น น้ำปลา ผงชูรส ผงฟู เกลือ
  • อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น ของหมักดอง เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาเค็ม อาหารกระป๋อง
  • เนื้อสัตว์ที่ผ่านการกระบวนการถนอมอาหาร เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน หมูแฮม ไข่เค็ม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • ไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น น้ำมันหมูและไขมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม
  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับกำลังและสภาพร่างกาย เช่น การเดิน โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
  2. ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกิน โดยการควบคุมอาหาร
  3. ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ
  4. งดการสูบบุหรี่ และดื่มสุรา
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด
  6. ไปพบแพทย์ตามนัด

 การสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด

        มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด มีบวมที่เท้า เหนื่อยหอบ ควรรีบไปพบแพทย์