; ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ


         ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆแล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเกิดการอักเสบตามไปด้วย โดยไม่มีการติดเชื้อในต่อมน้ำเหลือง (เช่น ฟันผุ แล้วส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ) หรือจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง (เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง) หรือจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองโดยไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อก็ได้ (เข่น ในโรคออโตอิมมูน)

         ต่อมน้ำเหลือง เป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง โดยมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆรูปไข่ นุ่ม เคลื่อนที่ได้เล็กน้อย มีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร ในภาวะปกติมักคลำไม่พบเพราะจะอยู่ปนไปกับเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่วตัวในทุกอวัยวะยกเว้นในสมอง มีหน้าที่สำคัญ คือเป็นตัวดักจับสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรคนอกจากนั้นยังมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายด้วย

         ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใดๆ แล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงตามมา แต่ไม่มีรายงานความชุกของภาวะนี้อย่างไรก็ตาม เป็นภาวะที่พบได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในทั้งในเพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน


         ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจเกิดเพียง ต่อมเดียว หลายๆต่อมพร้อมๆกัน ในหลายตำแหน่ง (เช่นคอ รักแร้ ขาหนีบ) และ/หรือ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุ และ/หรือ ตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดการอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

  1. มีแผลและ/หรือการอักเสบในอวัยวะต่างๆเช่น ผิวหนัง ช่องปาก อวัยวะเพศ
  2. มีการติดเชื้อในอวัยวะระบบต่างๆของร่างกาย
  3. มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอดส์
  4. ผู้ป่วยมะเร็ง

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

  1. เกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่างๆเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด แล้วส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงอักเสบตามไปด้วยโดยไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง
  2. อาการจากการมีแผลหรือการอักเสบของอวัยวะใกล้เคียงเช่น โรคเหงือก ฟันผุ หรือมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ร่วมด้วย เมื่อมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคหวัด โรคหัด หรือต่อมน้ำเหลืองโต บวม แดง เจ็บ เป็นหนองที่มีสาเหตุเกิดจากต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

อาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

         โดยปกติแล้วอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบอยู่ อาการหลักๆที่พบได้คือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต มีอาการกดเจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง นอกจากนั้น ยังมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ดังนี้

  1. มีอาการบวม หรือกดเจ็บที่บริเวณต่อมต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
  2. ต่อมน้ำเหลืองเกิดอาการแข็งตัว หรือขยายตัวอย่างผิดปกติ
  3. ผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบแดง หรือมีริ้วสีแดงขึ้น
  4. มีหนองในต่อมน้ำเหลือง
  5. มีของเหลวไหลออกมาจากต่อมน้ำเหลืองและคั่งอยู่ที่ผิวหนัง
  6. ผิวหนังบริเวณรอบๆต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบมีอาการบวม
         ซึ่งนอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่นๆที่เกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น มีไข้ คัดจมูก เจ็บคอ แขนหรือขาบวม มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ


การรักษา

         การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ เช่น การหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาเมื่อสาเหตุเกิดจากยา การทำฟัน เมื่อสาเหตุเกิดจากฟันผุ การรักษาแผลต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากแผล  การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาวัณโรคเมื่อสาเหตุเกิดจากเชื้อวัณโรค และการรักษาโรคมะเร็งเมื่อมีสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น  นอกจากนั้นคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด ถ้ามีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองมาก

การป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

         วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการไข้ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการอักเสบ โดยหากมีอาการบวมกดเจ็บ และคลำเจอก้อนใต้ผิวหนัง หรือรู้สึกเหมือนมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งในร่างกายอย่างผิดปกติ ไม่ควรเจาะ หรือเกา เนื่องจากอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

         สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบนั้น สามารถป้องกันอาการรุนแรงหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เมื่อมีอาการเจ็บปวด หรือมีอาการบวมบริเวณที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ควรใช้ของเย็นประคบ จะช่วยบรรเทาอาการได้ ทั้งนี้ หากและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบก็อาจหายอย่างรวดเร็ว แต่คงต้องใช้ระยะเวลาสักพักว่าอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจะลดลง ผู้ป่วยควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาเป็นซ้ำของต่อมน้ำเหลืองอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้วางแผนและหาวิธีป้องกันความรุนแรงของต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การดูแลตนเอง

          การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบคือ การดูแลตามสาเหตุนั้นๆ(เช่น การดูแลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น) ร่วมกับการดูแลสุขภาพทั่วไป

  1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. รักษาความสะอาดต่อมน้ำเหลืองส่วนนั้น ไม่คลำบ่อย ไม่เกา เพราะจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
  3. กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจากการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  4. ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  5. ดูแลตนเองตามสาเหตุของโรคเช่น โรคมะเร็ง วัณโรค เป็นต้น
         ถ้ามีการพบแพทย์ ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยาและไม่หยุดยาเอง ร่วมกับพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ


         ฉะนั้นอาการที่เกิดร่วมกับภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะภาวะต่อมน้ำเหลืองโตอาจมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่นๆดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป