; ท่าในการให้นมแม่ที่ถูกต้องและการอุ้มเรอ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ท่าในการให้นมแม่ที่ถูกต้องและการอุ้มเรอ

        ท่าอุ้มที่เหมาะสม จะช่วยให้ลูกเข้าหาเต้านมแม่ ดูดและกลืนน้ำนมได้ดี คุณแม่จึงควรเลือกท่าที่ถนัด ผ่อนคลาย และไม่ทำให้คุณแม่เกร็งหรือเมื่อย เหมาะสมกับสภาวะของคุณแม่มากที่สุด ซึ่งวิธีในการอุ้มให้นมลูกก็มีหลายวิธี ดังนี้

        1. ท่าลูกนอนขวางบนตัก ( Cradle hold )

        เป็นท่าที่อุ้มลูกไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
ท่านี้เหมาะสำหรับ : คุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด

        2. ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ ( Modified/cross cradle hold )  

        ลักษณะของท่านี้จะคลายกับท่าแรกเพียงแต่เปลี่ยนมือของคุณแม่โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านมไว้ ส่วนมืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกแทน
ท่านี้เหมาะสำหรับ : คุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดเช่นกัน และยังเหมาะสำหรับนำลูกเข้าอมหัวนม เพราะมือของคุณแม่ที่ประคองต้นคอและท้ายทอยของลูกไว้ จะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกให้เข้าหาเต้านมได้ดี

        3. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล ( Clutch hold หรือ Football hold )

        ท่านี้ลูกอยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
ท่านี้เหมาะสำหรับ : แม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพราะตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสและกดทับแผลผ่าตัดที่หน้าท้องของแม่ คุณแม่ที่มีเต้านมใหญ่หรือลูกตัวเล็กเพราะลูกจะเข้าอมงับเต้านมได้ดีกว่า และคุณแม่ที่คลอดลูกแฝด เพราะสามารถให้ลูกดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อมๆกันได้

        4. ท่านอน ( Side lying position )

        แม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อยหลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่อาจใช้ผ้าขนหนูที่ม้วนไว้ หรือหมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ก็ได้ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดีก็ขยับออกได้
ท่านี้เหมาะสมสำหรับ : แม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องต้องการพักผ่อน หรือให้นมลูกเวลากลางคืน

การอุ้มเรอหลังการให้นม

        การอุ้มไล่ลมให้ลูกเรอ คุณแม่ควรทำทันทีหลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้วทุกครั้ง หรือทำให้ลูกเรอก่อนที่จะให้ลูกมาดูดนมอีกข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสำรอกน้ำนมออกมาหลังจากได้นมแม่แล้ว โดยคุณแม่สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  • ท่าที่ 1 : การอุ้มเรอโดยการเอาลูกพาดบ่า

                การไล่ลมในท่าอุ้มพาดบ่าให้คุณแม่อุ้มลูกโดยให้คางของลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลังโดยลูบขึ้นจนได้ยินเสียงเรอ

  • ท่าที่ 2 : การอุ้มเรอท่าเอาลูกนั่งบนตัก

                การไล่ลมในท่านั่งบนตัก ให้โน้มตัวลูกมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือหนึ่งประคองใต้คางลูก อีกมือหนึ่งลูบหลังเบาๆจนได้ยินเสียงเรอ

 

 

        หลังจากอุ้มเรอเสร็จแล้ว คุณแม่ควรจัดให้ลูกนอนตะแคงขวาเพราะจะช่วยให้น้ำนมไหลลงสู่กระเพาะและลำไส้เล็ก ทำให้มีการย่อยและการดูดซึมได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้อากาศที่ลูกดูดเข้าไปตอนดูดนมลอยอยู่ส่วนบนของกระเพาะ ซึ่งลูกจะเรออกมาได้ง่ายและป้องกันท้องอืดได้อีกด้วย

 

แหล่งที่มา :

- ชลรส เจริญรัตน์ (2557) Breast feeding (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่) สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2558

- ดาริน โต๊ะกานิ (2556) ทักษะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กรุงเทพฯ: เอเชียเพรส

- ภัทรวรรณ ธาดาดลทิพย์ (2549) เลี้ยงลูกน้อยด้วยนมแม่ Breast feeding. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี