; นอนกรน..หลับลึกหรือหลับร้าย -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

นอนกรน..หลับลึกหรือหลับร้าย

  

      อาการนอนกรน หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและอาจจะมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วการนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนของร่างกายถึงระบบการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณหยุดหายใจก็เป็นได้ ความผิดปกตินี้จะส่งผลเสียกับคุณทั้งทางด้านสุขภาพ และ การดำเนินชีวิตประจำวัน

        ดังนั้น หากท่านมีอาการตื่นมาตอนเช้าแล้วมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม หรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอนทั้งวันเลย หรือมีอาการเหมือนภาพด้านล่างนี้ เป็นไปได้ว่าคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการ หยุดหายใจขณะนอนหลับ


        ในทางการแพทย์มีการรักษาอาการนอนกรน เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เพื่อช่วยรักษาอาการดังกล่าว โดยการตรวจการนอนหลับ ซึ่งเป็นวิธีตรวจทางห้องปฎิบัติการวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยในการวินิจฉัยและประเมินพยาธิสภาพ ในขณะหลับนอน

        เนื่องจากการนอนหลับของมนุษย์โดยทั่วไปเริ่มจากการ ค่อย ๆ ง่วง และง่วงมากขึ้นจนเข้าสู่ระยะหลับ  และการเข้าสู่ภาวะหลับจะเกิดขึ้นเป็นวงจรในแต่ละคืนซืึ่งวงจรนี้จะใช้ เวลา 1.5 - 2 ชั่วโมง โดยเริ่มจาก หลับตื้น - หลับลึก - หลับ ลึกมาก และเริ่มหลับตื้นใหม่ เป็นเช่นนี้ตลอดทั้งคืนจนเช้า

        มนุษย์เราจะมีวงจรการหลับนี้ 4 - 5 วงจรขึ้นอยู่กับความต้อง การของแต่ละบุคคล ส่วนอาการที่อาจตรวจพบ สามารถ พบได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระยะหลับหรืออาจพบเมื่อหลับไปนานกว่า 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นในแต่ละคน หรือ บาง ราย พบความผิดปกติเฉพาะในท่านอนหงายหรือพบในช่วงหลับลึก มากเท่านั้น

        ดังนั้นการตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะหลับ จึงจำเป็นต้องตรวจในเวลาที่หลับ ปกติเพราะต้องใช้เวลาในการตรวจนาน 6 - 8 ชั่วโมง ในการตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดมีขึ้น

การตรวจการนอนหลับ ทำอย่างไร 

        การตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย โดยการติดอุปกรณ์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ คือ

        1. ติดอุปกรณ์ที่ศีรษะ หางตา หลังหู และคางเพื่อดูการหลับของคลื่นสมองและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
        2. ติดอุปกรณ์ที่จมูก หน้าอก หน้าท้อง และ นิ้วมือ เพื่อดูความผิดปกติของการหายใจขณะหลับไม่ว่าจะเป็นลมหายใจที่สูดเข้าออกหรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจทั้งหน้าอก และ หน้าท้อง ที่จะต้องสัมพันธ์กัน
        3. วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่ได้จากการหายใจว่าเพียงพอต่อร่างกายหรือไม่ โดยสามารถบอกได้ว่าการหลับในคืนนั้นคลื่นไฟฟ้าสมอง แสดงการหลับเป็นอย่างไร หลับได้คุณภาพมากน้อยเพียงไร หลับได้ลึกหรือตื่นบ่อยมากน้อยเพียงไรจากสาเหตุไหนมีการละเมอหรือไม่ การหายใจและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจเป็นอย่างไร สัมพันธ์กันดีหรือไม่ มีความผิดปกติมากหรือน้อยอย่างไร คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับเป็นเช่นไร มีการกระตุก ของกล้ามเนื้อแขนขาหรือไม่ ซึ่งต้องเฝ้าดูในขณะตรวจตลอดเวลาเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะพบความผิดปกติส่วนใด ในเวลาไหน

สิ่งที่ผู้ตรวจการนอนหลับจะได้รับหลังการตรวจ
 
        1. รู้ว่าการนอนของท่านอันตรายมากน้อยเพียงไร
        2. ผลการตรวจดูจากกราฟการนอนหลับจะแสดงช่วงการนอนหลับตลอดทั้งคืน
        3. คำแนะนำหลังจากวินิจฉัยจากแพทย์

การเตรียมตัวเพื่อรับการตรวจการนอนหลับ

        1. ต้องสระผมให้สะอาดก่อนมารับการตรวจ
        2. ห้ามใส่น้ำมันหรือครีมที่ผม  เพราะการติดอุปกรณ์ที่หนังศีรษะ จำเป็นต้องให้บริเวณที่ติดอุปกรณ์ไม่มีไขมันเพื่อให้สัญญาณกราฟคมชัด และสามารถอ่านระดับการนอนหลับได้ถูกต้อง
        3. ห้ามทาแป้งหรือครีมที่บริเวณใบหน้า คอ และขา เพราะจะทำให้อุปกรณ์ที่ติดอยู่ได้นานตลอดทั้งคืน
        4. ห้ามดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาตรวจเพราะจะทำให้คุณภาพการนอนหลับผิดปกติ ในรายที่ดื่มเป็นประจำไม่สามารถตรวจได้ ต้องให้แพทย์ที่รักษาทราบก่อนทำการตรวจ
        5. ห้ามกินยาถ่าย ยานอนหลับ ก่อนมารับการตรวจเพราะจะทำให้การตรวจไม่ต่อเนื่องในรายที่กินยาถ่าย และในรายที่กินยานอนหลับจะทำให้การนอนหลับไม่เป็นไปตามปกติที่ควรเป็น ยกเว้นในรายที่แพทย์อนุญาตหรือจัดยา ให้รับประทานก่อนทำการตรวจ ทั้งนี้แพทย์ที่รักษาต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย