; นิ่วในทางเดินปัสสาวะและการสลายนิ่ว -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

นิ่วในทางเดินปัสสาวะและการสลายนิ่ว

       นิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิ่วคือก้อนหินปูนหรือผลึกเกลือแร่ซึ่งเกิดในระบบทางเดินน้ำปัสสาวะ  นิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะมักจะเกิดขึ้นที่ไตก่อน แล้วอาจจะหลุดมาติดอยู่ในหลอดไตหรือหลุดมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนประกอบของนิ่วมีหลายอย่างเช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริค


สาเหตุของการเกิดนิ่ว

1. กรรมพันธุ์  ผู้ป่วยที่มีพ่อแม่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้

2. อายุและเพศ นิ่วในไต พบได้ในชายมากกว่าหญิง ถึง 2 ต่อ 1 พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

3. ความผิดปกติในการทำงานของต่อมพาราทัยรอยด์ ซึ่งหลั่ง hormone ที่ควบคุมสาร calcium ออกมามากกว่าปกติ

4. มีการตีบแคบของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง การตีบแคบนี้อาจมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง

5. ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ เกิดจากมีสารต่างๆ ถูกขับออกมาในน้ำปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำจากร่างกายทางด้านอื่นมาก เมื่อปัสสาวะเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในปัสสาวะจะตกผลึก ก็มีมากขึ้น

6. การอักเสบการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

7. ยา บางอย่าง ทำให้เกิดนิ่วได้ ยาลดกรดที่กินอยู่เป็นเวลานานๆทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง จะเกิดนิ่วพวกphosphate ได้ง่าย

8. อาหารที่รับประทาน เช่น ชอบทานอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ ยอดผัก สาหร่าย จะทำให้เกิดกรดยูริคได้ และการกินอาหารจำพวกผักที่มีสารออกซาเลต สูง เช่น ผักโขม หน่อไม้ ชะพลู เป็นต้น


ตำแหน่งที่พบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

1. ไต
2. ท่อไต
3. กระเพาะปัสสาวะ
4. ท่อปัสสาวะ

อาการ

1. ปวดบริเวณบั้นเอวหรือปวดท้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่ว
2. มีปัสสาวะเป็นเลือด
3. มีปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะลำบาก
4. มีไข้
5. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
6. ปัสสาวะไม่ออก กรณีเป็นนิ่วบริเวณท่อปัสสาวะ
7. ไม่มีน้ำปัสสาวะ กรณีที่มีภาวะอุดตันของไตอย่างรุนแรงทั้งสองข้าง



การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

       ปัจจุบันมีการรักษาที่หลากหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้คือ

1. การสลายนิ่ว
2. การผ่าตัด
3. การส่องกล้อง ร่วมกับเครื่องกระแทกนิ่ว แล้วเอานิ่วออก

ในที่นี้จะกล่าวถึงการรักษาโรคนิ่วโดยวิธีการสลายนิ่ว

       การสลายนิ่ว คือการรักษาโรคนิ่วโดยการทำให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยใช้พลังงานเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย ซึ่งพลังงานนี้จะผ่านเข้าสู่ร่างกายโดยไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อ หลังจากที่นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ว จะหลุดปนออกมากับปัสสาวะ เป็นการรักษา ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบใดๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ทำการรักษา ไม่มีแผลหรือท่อระบายใดๆ ออกมานอกร่างกาย ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้หลังจากรับการรักษาแล้ว

       การรักษาโดยใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยพลังเสียงเหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ควรเกิน 2 - 3 ซม. และทางเดินปัสสาวะส่วนที่ต่ำกว่าไม่มีการตีบตัน เพื่อให้นิ่วที่สลายซึ่งมีขนาดเล็กลงสามารถผ่านปนมากับปัสสาวะได้

การเตรียมตัวก่อนการสลายนิ่ว

1. ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
3. ในรายที่มียาทานประจำ ถ้ามียาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเพื่อหยุดยาประมาณ 7 - 10 วัน
4. ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตรงตามวันนัด

การเตรียมตัวขณะทำการสลายนิ่ว

1. อาจจะต้องนอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง แล้วแต่ตำแหน่งของนิ่ว
2. แพทย์จะหาตำแหน่งของนิ่วโดยการเอ็กซเรย์หลังจากเอ็กซเรย์แล้วผู้ป่วยต้องนอนนิ่งๆ เพราะจะทำให้ตำแหน่งของนิ่วไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม
3. ขณะทำการสลายนิ่วจะมีเสียงดังเบาๆทุกครั้งที่มีพลังงานเสียงตกกระทบก้อนนิ่ว
4. อาจจะรู้สึกปวดบ้างจากพลังงานเสียงที่ตกกระทบ ถ้าปวดมากจนทนไม่ได้ ต้องบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อลดระดับของพลังงานลง หรืออาจหยุดพักเป็นระยะๆ
5. บางรายอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือจะเป็นลม ควรรีบบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ

การปฎิบัติตัวหลังการสลายนิ่ว

1. วันแรกอาจจะรู้สึกปวดมาก ควรรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จัดให้ จะช่วยให้อาการทุเลาลง ปัสสาวะอาจเป็นสีแดง หรือสีน้ำล้างเนื้อไม่ต้องตกใจ ควรนอนพักและดื่มน้ำมากๆ อาการจะดีขึ้นและหายไปใน 1 - 2 วัน

2. งดการทำงานหนักประมาณ 1 - 2 วัน โดยเฉพาะช่วงที่ปัสสาวะมีสีแดง

3. ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อย 3 - 4 ลิตร เพื่อให้มีปัสสาวะมากๆและเพื่อที่น้ำจะพัดพาเศษนิ่วที่แตกแล้วให้หลุดออกมาได้เร็วขึ้น

4. ถ้ามีอาการปวดมาก ไข้สูง ปัสสาวะออกน้อยลงหรือไม่ออก ควรรีบกลับไปพบแพทย์หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

5. หลังการรักษา และร่างกายเป็นปกติควรออกกำลังกายเป็นประจำ และสังเกตุว่ามีเศษนิ่วหลุดออกมาพร้อมปัสสาวะบ้างหรือไม่

ปัจจัยต่อความสำเร็จในการรักษา

1. ขนาดของนิ่ว  ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่เกิน 3 ซม. หรือมีหลายก้อน ทำให้ต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง เศษนิ่วอาจลงมาอุดตันท่อไตส่วนล่างได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใส่สายระบายท่อไตก่อนการสลายนิ่ว

2. ความแข็งของนิ่ว ถ้าแข็งมากอาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง และต้องใช้พลังงานระดับที่สูงขึ้น บางครั้งผู้ป่วยอาจทนเจ็บไม่ได้ ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี

3. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล

4. ความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดนิ่วในไต ท่อไต อาจทำให้นิ่วที่แตกแล้วไม่สามารถหลุดออกมาได้ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องหยุดการสลายนิ่ว