; ภาวะไข้ - ชักในเด็ก -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ภาวะไข้ - ชักในเด็ก

             ภาวะมีไข้ คือ ภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าระดับปกติ คือ มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เนื่องจากโรคหรือภาวการณ์เจ็บป่วย

สาเหตุ

  1. เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส
  2. เกิดจาสาเหตุอื่นๆ ได้แก่

                2.1 โรคภูมิแพ้

                2.2 การอักเสบของอวัยวะ

                2.3 การได้รับสารพิษ ยา

                2.4 โรคทางสมอง

                2.5 การได้รับวัคซีน

                2.6 ภาวะขาดน้ำ

                2.7 สภาพแวดล้อม เช่น อากาศร้อน การใส่เสื้อผ้าหนาหรือหลายชิ้น โดยเฉพาะในทารกที่ได้รับการห่อตัวมากเกินไป

 

การจัดการกับภาวะไข้

        เมื่อเด็กมีไข้ต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายลงเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันอาการชัก ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น อัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

 

ดังนั้น มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ควรประเมินภาวะไข้จากการสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะไข้ ได้แก่ อาการหนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
  2. ดูแลให้รับประทานยาลดไข้ หากเด็กมีไข้ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรให้รับประทานยากลุ่มพาราเซตามอล โดยให้รับประทานทุก 4 – 6 ชั่วโมง
  3. การเช็ดตัวด้วยน้ำระดับอุณหภูมิห้องจะทำให้ระบายความร้อนออกจากร่างกายในขณะเช็ดตัว ซึ่งมีวิธีการเช็ดตัวลดไข้ ดังนี้

                3.1 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ กะละมังใส่น้ำอุ่น ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 2 – 3 ผืน ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน ใช้ห่มตัวเด็ก

                3.2 เช็ดตัวเด็กโดยใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดๆ แล้วเช็ดจากอวัยวะส่วนปลายของร่างกายเข้าหาลำตัว ร่วมกับการประคบผิวหนังตามจุดที่รวมของหลอดเลือดขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ เพื่อช่วยให้ความร้อนถ่ายเทออกจากร่างกาย ระยะเวลาที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ประมาณ 15 – 20 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการเช็ดตัวลดไข้แล้วประมาณ 30 นาที ควรวัดไข้ซ้ำ ถ้าหากไข้ยังไม่ลดให้ทำซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง

  1. สวมเสื้อผ้าให้บาง ไม่ควรห่อตัวเด็กหรือห่มผ้าที่หนาเกินไป เพื่อให้ความร้อนได้ระบายออกไปได้ดีขึ้น
  2. กระตุ้นเด็กดื่มน้ำหรือนมมากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปทางเหงื่อ
  3. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น การเปิดประตู หน้าต่าง การใช้พัดลมเป่า แต่ไม่ควรเป่าตรงตัวเด็ก เพราะจะทำให้หนาวสั่นได้ ถ้าเป็นห้องปรับอากาศ ควรปรับอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 16 – 19 องศาเซลเซียส
  4. ให้เด็กได้รับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการเผาผลาญภายในร่างกาย

 การปฏิบัติ..เมื่อเกิดอาการชักจากภาวะไข้

  1. จัดให้นอนตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้น้ำลายไหลออกจากปาก ไม่สำลักเข้าไปในทางเดินหายใจและลิ้นไม่ตกอุดหลอดลม
  2. จัดให้เด็กนอนราบใช้ผ้านิ่มๆ เช่น ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวหนุนบริเวณใต้ศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะกระแทกกบพื้นเตียงและระหว่างชักต้องระวังศีรษะ แขนและขา กระแทกกับของแข็งหรือสิ่งมีคม โดยเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออก และไม่ควรเคลื่อนย้ายเด็กขณะชัก
  3. ไม่ควรผูกยึดตัวเด็กขณะที่มีอาการชัก เพราะอาการผูกยึดอาจจะทำให้กระดูกหักได้
  4. คลายเสื้อผ้าให้หลวม โดยเฉพาะรอบๆ คอ เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวก และอย่าให้มีคนมุงมาก เพื่อให้อากาศถ่ายเทดี
  5. การกดลิ้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากการพยายามกดปากเด็กให้อ้าออก เพื่อใส่ไม้กด ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้จากฟันหัก และหลุดไปอุดหลอดลม
  6. สังเกตลักษณะการชัก ลักษณะของใบหน้า ตาขณะชัก ระดับความรู้สติของเด็กก่อน ระหว่าง และหลังชัก พฤติกรรมที่ผิดปกติหลังการชัก ระยะเวลาที่ชักทั้งหมด จำนวนครั้งหรือความถี่ในการชัก
  7. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการชักขึ้นอีก เช่น จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบ ดูแลไม่ให้เด็กมีไข้
  8. สังเกตและติดตามอาการชักที่อาจเกิดขึ้นอีก ถ้าเด็กชักเกิน 5 นาที หรือชักซ้ำหลังจากชักครั้งแรกผ่านไป อาการไม่ดีขึ้นภายหลังการชัก มีหายใจลำบาก ถ้าอยู่ที่บ้านควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

 ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังนี้

  1. อายุน้อยกว่า 3 เดือน แล้วมีไข้
  2. ไข้สูงว่า 40.5 องศาเซลเซียส
  3. เด็กดูซึมลง

 ควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการดังนี้

  1. 1. อายุระหว่าง 3 – 6 เดือน ยกเว้นไข้ที่เกิดหลังฉีดวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
  2. ไข้ระหว่าง 40 - 40.5 องศาเซลเซียส
  3. มีไข้มานานกว่า 24 ชั่วโมง โดนไม่มีอาการเป็นหวัดร่วมด้วย
  4. มีไข้นานกว่า 3 วัน
  5. ไข้ลดลงมากกว่า 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาใหม่