;
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้ในผู้ชายโดยเฉพาะผู้ชายสูงวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา เป็นมะเร็งที่พัฒนาในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มักเป็นมะเร็งที่ซ่อนเร้น ไม่ปรากฎอาการในระยะแรกๆ
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุ มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด ตามสถิติจากสถาบันมะเร็งของสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ชาย มีการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและ 1 ใน 35 เสียชีวิตจากโรคนี้
แต่พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พัฒนาตัวช้ากว่ามะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งแปลว่า หากมีการตรวจพบก่อน และรักษาในช่วงแรกๆ โอกาสการเสียชีวิตก็จะน้อยลง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
1. อายุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมากในผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี แต่จะพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนทั่วไป
3. เชื้อชาติ พบไม่บ่อยในชาวเอเชียแต่พบมากในอเมริกา
4. อาหารที่มีไขมันสูง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนผักและผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
5. ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ แต่หากมีอาการผู้ป่วยมักจะแสดงอาการคล้ายกับอาการโรคต่อมลูกหมากโต เช่น
1. ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
2. ปัสสาวะลำบากและเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
3. ปัสสาวะไม่พุ่ง
4. อวัยวะเพศแข็งตัวยาก
5. เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด
6. มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ น้ำอสุจิ
อาการต่างๆเหล่านี้อาจจะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ
การวินิจฉัย
1. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากที่สำคัญ คือ การตรวจ PSA ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่า PSA ได้โดยการเจาะเลือด ในคนปกติค่า PSA จะอยู่ในระดับ 0-4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ค่านี้อาจสูงขึ้นตามอายุ หรือ ขนาดของต่อมลูกหมาก
2. การตรวจ U/S (อัลตราซาวนด์) ของต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงโดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจประเมินต่อมลูกหมาก
3. การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมาก โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก หากเป็นมะเร็งอาจคลำได้ก้อนแข็ง การคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเป็นการตรวจประเมินร่วมกับค่า PSA
4. การตัดชิ้นเนื้อ เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัยและมีค่า PSA สูงขึ้นเมื่อติดตามเป็นระยะ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากขณะที่ทำการตรวจต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก
ระยะของโรค
ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็ก อยู่ในต่อมลูกหมาก การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือลุกลามไปกระดูกและอวัยวะอื่นๆ
การรักษา
1.การผ่าตัด การผ่าตัดเป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกๆ ที่ดีที่สุดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆสามารถหายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดก็จะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วย แพทย์จะใช้ดุลยพินิจในการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ผลเสียของการผ่าตัดต่อมลูกหมากคือ อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด และบางราย การควบคุมการปัสสาวะจะเสียไป
2.การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีนั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย เช่น ในรายผู้ป่วยสูงอายุ หรือในรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจซึ่งไม่เหมาะสมที่จะรักษาโดยการผ่าตัด หรือฮอร์โมน
3.การรักษาโดยฮอร์โมน เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะที่ 3 - 4 หรือมีการกระจายไปแล้วนั้น เนื่องจากต่อมลูกหมากโดยปกติเจริญเติบโตอาศัยฮอร์โมนเพศชาย เช่น testosterone มะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นเดียวกัน เมื่อเอาแหล่งต้นตอของฮอร์โมนเพศชายออก ก็จะช่วยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ไม่โตขึ้นอีก ซึ่งสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย การรักษาด้วยฮอร์โมนนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย หรือในรายที่กลับมาเป็นอีก หลังจากรับการรักษาด้วยการฉายแสงแล้ว
วิธีการฟื้นฟูร่างกายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
1. ดูแลด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยผู้ป่วยลดความอึดอัดใจและคลายความวิตกกังวล ให้กำลังใจผู้ป่วย
2. ดูแลทางด้านโภชนาการและลำไส้ เพื่อลดอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ควรจัดให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย รับประทานผักและผลไม้ที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำมากๆ ห้ามทานของเผ็ดหรือมีรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก
3. ติดตามพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อดูค่า PSA และประเมินผลแทรกซ้อนอื่นๆ