; มะเร็งปอด (Lung Cancer) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

มะเร็งปอด (Lung Cancer)

 
มะเร็งปอด (Lung Cancer)

         มะเร็งปอด คือ การเติบโตของเซลล์ปอดอย่างควบคุมไม่ได้ซึ่งทำให้เกิดเนื้องอกในปอดในบางครั้งอาจเป็นเนื้อดี(ไม่ใช่มะเร็ง)หรือเนื้อร้าย(มะเร็ง)ก็ได้ มะเร็งปอดจะเกิดขึ้นบริเวณท่อลมหรือเนื้อเยื่อปอดซึ่ง เรียกว่า มะเร็งปอดปฐมภูมิ แต่หากมะเร็งที่แพร่กระจายไปปอดผ่านทางกระแสเลือด เรียกว่า มะเร็งปอดทุติยภูมิ โดยการเรียกชื่อมะเร็งจะขึ้นอยู่กับ ต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายมาปอดก็ยังคงเรียกว่ามะเร็งเต้านมเหมือนเดิม
 
         มะเร็งปอดส่วนใหญ่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และเนื่องจากมะเร็งปอดมีการลุกลามเร็ว เมื่อมีอาการแสดงชัดเจนมักตรวจพบว่าเป็นระยะท้ายรักษาไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นทางที่ดีควรหาทางป้องกันด้วยการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งร้อยละ 80-90 มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ซึ่งมีสารก่อมะเร็งอยู่หลายชนิด ยิ่งสูบปริมาณมากและนาน ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นแม้แต่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่รับควันบุหรี่จากคนข้างเคียง(เช่น คนในบ้านเดียวกัน หรือในที่ทำงานที่สูบบุหรี่)มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ถ้าเลิกสูบ ก็จะลดความเสี่ยงลงได้
 
 สาเหตุของมะเร็งปอด 

         การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอด รวมไปถึงการสูบบุหรี่มือสองด้วยการสูดดมควันบุหรี่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การสัมผัสกับแร่ใยหิน การสัมผัสกับก๊าซเรดอน กินผักผลไม้น้อย เคยเป็นดรคปอดบางอย่าง เช่น วัณโรค และเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นโรคเอดส์

 อาการของโรคมะเร็งปอด 

         มะเร็งปอดส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น สามารถสังเกตได้จาก

  1. อาการไอเล็กน้อยเกือบตลอดเวลาและไอมากขึ้นเรื่อยๆหรือไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน
  2. ไอปนเลือด
  3. หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบากเป็นระยะเวลานาน
  4. เจ็บหน้าอก
  5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
  6. ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ

         นอกจากนี้ยังมีบางอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อย เช่น หายใจมีเสียงวีด รูปร่างของปลายนิ้วและเล็บเปลี่ยนแปลงไป ไข้ขึ้นสูง กลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ ใบหน้าและคอมีอาการบวม

การวินิจฉัยมะเร็งปอด 

         แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น และทำการถ่ายภาพรังสีทรวงอก หากอาการหรือภาพรังสีทรวงอกเข้าได้กับมะเร็งปอด คุณจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางทรวงอกเพื่อได้รับการดูแลต่อไป โดยแพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย รวมถึงระบุระยะของโรคมะเร็งด้วยการทำ CT scan และ การส่องกล้องทางหลอดลม

ระยะของมะเร็งปอด 

         ระยะที่ 1  มะเร็งจำกัดอยู่ภายในปอด อาจลุกลามถึงหลอดลม หรือเยื่อหุ้มปอดชั้นใน แต่ยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง

         ระยะที่ 2  มะเร็งลุกลาม ไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด หรือรอบๆ หลอดลม หรือลุกลามไปยังผนังทรวงอก(กระดูก ซี่โครง) กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก หรือเยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก

         ระยะที่ 3  มะเร็งลุกลาม ไปยังผนังทรวงอก กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก ร่วมกับแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือรอบๆหลอดลม หรือไปยังเนื้อเยื่อภายใน หัวใจ ท่อลม หลอดอาหาร หรือกระดูกสันหลัง หรือแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าหรือประจันอก ข้างเดียวกัน หรือแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดหรือประจันอกในทรวงอกข้างตรงข้าม

         ระยะที่ 4  มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆที่นอกปอด เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูกทั่วร่างกาย เป็นต้น

 การรักษามะเร็งปอด 

           เมื่อได้รับผลการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จึงสามารถระบุถึงวิธีที่ใช้ในการรักษาได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบกันด้วย เช่น ความรุนแรงของโรคว่าผู้ป่วยอยู่ในขั้นใด ชนิดของมะเร็งปอด วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล หรือแม้แต่โอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยหลักๆการรักษามี 3 วิธี คือ

  1. การผ่าตัด (Surgery) 
  2. การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
  3. การฉายแสง (Radiation Therapy)

การป้องกันโรคมะเร็งปอด  

         โรคมะเร็งปอดยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

  1. ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่
  3. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  4. ป้องกันตนเองจากมลภาวะหรือควันพิษ
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ