; วัณโรค (Tuberculosis) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

วัณโรค (Tuberculosis)



        วัณโรค หรือเรียกย่อว่า ที บี (TB) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ เป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อกับทุกอวัยวะของร่างกาย โดยแบ่งตามตำแหน่งที่เกิด คือ วัณโรคปอด และวัณโรคนอกปอด คือเป็นกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ลำไส้ ไต ผิวหนัง แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ วัณโรคปอด

สาเหตุ

        เกิดจากการได้รับเชื้อจากเสมหะของคนที่เป็นโรค เชื้อที่ทำให้เกิดโรค คือ เชื้อแบคทีเรียชื่อว่า "ไมโคแบคทีเรีย ทูเบอร์คูโลซิส" (Mycobacterium Tuberculosis) ซึ่งมีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เชื้อนี้มีความทนต่อสภาพอากาศต่างๆ ได้ดี แต่ไม่ทนต่อแสงแดด

การติดต่อ

        โดยการหายใจเอาเชื้อวัณโรคที่แพร่กระจายจากการไอ จาม พูดของผู้ป่วยวัณโรค

อาการที่สงสัยว่าเป็นวัณโรค

        1. ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ไอมีเลือดปน ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ
        2. ไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายถึงค่ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
        3. เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
        4. มีเหงื่อออกมากผิดปกติตอนกลางคืน
        5. ต่อมน้ำเหลืองโต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค
 
        1. ตรวจเสมหะดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อวัณโรค
        2. เอกซเรย์ปอด จะพบแผลวัณโรคที่เนื้อปอด

เมื่อไรควรไปตรวจหาเชื้อวัณโรค

        1. ผู้มีอาการสงสัยวัณโรค คือ มีไอเป็นเลือด ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
        2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต
        3. ผู้อาศัยร่วมบ้าน หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอด เสมหะพบเชื้อ
        4. เด็กที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด เสมหะพบเชื้อ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
        5. ผู้มีประวัติเคยต้องขังในเรือนจำ ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด
        6. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์

การรักษา

        1. ยารักษาวัณโรคมีประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่งสามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายได้เกือบ 100% หากผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอจนครบกำหนด จะสามารถป้องกันการรักษาล้มเหลวและการเกิดโรคดื้อยา

        2. การรักษาวัณโรค มี 2 ระยะ คือ
            - ระยะเข้มข้น  จะประกอบไปด้วยยาอย่างน้อย 3 - 4 ชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคเกือบทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อ
            - ระยะต่อเนื่อง  จะใช้อย่างน้อย 2 - 3 ชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคที่หลงเหลืออยู่ รวมระยะเวลาการรักษาตั้งแต่ 6 ถึง 8 เดือน
            ดังนั้น การที่จะต้องได้รับยาครบตามกำหนดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้วเชื้อวัณโรคอาจตายไม่หมด และผู้ป่วยจะกลับมาป่วยเป็นวัณโรคอีกครั้ง และเป็นวัณโรคดื้อยาได้

        3. อาการข้างเคียงที่เกิดจากยารักษาวัณโรค
            - หากมีอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปัสสาวะมีสีส้ม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชาตามปลายมือปลายเท้า ผื่นคัน ควรรับประทานยาต่อไป ไม่ควรหยุดยาเอง แล้วไปพบแพทย์
            - อาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ตามองไม่ชัด ตาบอดสี ตาเหลือง ตัวเหลือง หูตึง เสียการทรงตัว เดินไม่ตรง เป็นลม ควรหยุดยาทันที แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นวัณโรค

        1. กินยาทุกวันอย่างน้อย 6 - 8 เดือน ตามที่แพทย์กำหนด
        2. ไม่ควรหยุดยาเอง แม้จะอาการดีขึ้น เพราะเชื้อโรคยังถูกกำจัดไม่หมด
        3. หากมีอาการแพ้ยาควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์ทันที
        4. หากตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ ไต เบาหวาน โรคเอดส์ ควรบอกแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
        5. ควรมาตรวจตามนัดทุกครั้ง แม้ยายังไม่หมด หรือหากมีความจำเป็นไม่สามารถมาตามวันนัดได้ ให้มาพบแพทย์ก่อนนัดรับยา
        6. ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามทุกครั้ง โดยใช้ผ้าเช็ดหน้า
        7. งดสารเสพติดทุกชนิด (รวมทั้งเหล้า เบียร์ บุหรี่)
        8. นำครอบครัวและผู้ใกล้ชิดมารับการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองวัณโรค
        9. จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกโดยการเปิดประตู หน้าต่าง หรือพัดลมระบายอากาศ
        10.ควรนำที่นอน หมอน มุ้ง มาผึ่งแดดเป็นประจำ ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนควรนำมาซักบ่อยๆ
        11.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ
        12.หากลืมกินยาให้กินยาต่อทันทีเมื่อนึกได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
        13.บ้วนเสมหะในภาชนะที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและนำไปเททิ้งโถส้วมแล้วราดน้ำให้สะอาด หรือนำไปเผาไฟหรือฝังดิน
        14.มีคนกำกับการกินยาจะทำให้การรักษาหายเกือบ 100%