; สตรีตั้งครรภ์ กับการรับมือโรคไทรอยด์ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

สตรีตั้งครรภ์ กับการรับมือโรคไทรอยด์

       

        คนส่วนใหญ่มักจะละเลยในการเฝ้าระวัง "โรคไทรอยด์" เพราะคิดว่าไกลตัว แต่ใครที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่ เรื่องนี้ห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพราะต่อมไทรอยด์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสมองของลูกน้อย เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วสำหรับว่าที่คุณแม่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไทรอยด์ตั้งแต่เนิ่นๆ


เริ่มต้นทำความรู้จักกับ "โรคไทรอยด์"

        ไทรอยด์เป็นชื่อของต่อมชนิดหนึ่งที่วางอยู่บริเวณด้านหน้าของคอ ตรงบริเวณใต้ลูกกระเดือก ปกติจะคลำไม่พบ มองไม่เห็น ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์


ไทรอยด์สำคัญต่อสมองของลูกน้อย

        ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อร่างกายตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการทางสมอง ทำให้ระบบประสาททำงานปกติ ป้องกันการเกิดโรคเอ๋อหรือภาวะปัญญาอ่อน  นอกจากนั้น ฮอร์โมนไทรอยด์ยังมีหน้าที่ในการเผาผลาญพลังงานเพื่อให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ

ต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์

        ในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 10-12 ทารกต้องอาศัยฮอร์โมนไทรอยด์จากแม่ หลังจากสัปดาห์ที่ 10-12 ทารกจึงสามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เอง แม่ควรได้รับไอโอดีนที่เพียงพอ เพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอยด์สำหรับทารกในครรภ์

        องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อยวันละ 250 ไมโครกรัมต่อวัน ขณะที่คนปกติต้องการ 150 ไมโครกรัมต่อวัน


ภาวะไทรอยด์เป็นพิษกับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์

        1. ภาวะไทรอยด์เป็นพิษในสตรีตั้งครรภ์ (Thyrotoxicosis)

            - ฮอร์โมนที่สูงเกินไป ส่งผลต่อทารก คือ ทำให้ชีพจรเร็ว ขนาดตัวเล็ก แท้งง่าย
            - ภูมิคุ้มกันต่อตัวรับ TSH (Anti-TSHR) ในโรคไทรอยด์เกรฟส์ของแม่ที่มีระดับสูงๆ สามารถผ่านรกไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์ ทำให้ต่อไทรอยด์ของทารกทำงานผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดได้

        2. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์ (Hypothyroidism)

            - เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาของสมองของทารกในครรภ์ การขาดฮอร์โมนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลต่อระบบประสาทสมอง ความจำ
            - สำหรับผลกระทบต่อแม่และการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะซีด หัวใจล้มเหลว การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือครรภ์เป็นพิษได้

วางแผนก่อนตั้งครรภ์.. สำคัญที่สุด

        การวางแผนก่อนตั้งครรภ์ คือการวางอนาคตด้านสุขภาพที่ดีที่สุด ทางที่ดีที่สุดคือต้องรักษาจนฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติเสียก่อน และควรแจ้งคุณหมอให้ทราบว่าตั้งใจจะมีเจ้าตัวเล็กเมื่อไหร่ เพื่อจะได้วางแผนการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมถึงตัวคุณแม่เอง

        ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์ทั้งที่ยังรักษาอยู่หรือรักษาหายแล้ว ต้องปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์และความเสี่ยงของทารก ตรวจติดตามการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างต่อเนื่อง
** การรับประทานยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โอกาสจะเกิดผลแทรกซ้อนน้อยมาก