ฝากครรภ์สำคัญอย่างไร?
การฝากครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด โดยคุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ การฝากครรภ์ถือว่าสำคัญมากเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด ไม่จำกัดแค่ว่าท้องแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ 2 หรือ 3 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น เพราะแพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารกแข็งแรงปลอดภัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง การปฏิบัติตัวต่างๆ ในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งนี้การฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
การเตรียมตัวไปฝากครรภ์
เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเวลามีเหตุฉุกเฉิน

สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
-
- บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
- ผลตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์/ ตั้งครรภ์ก่อน
ฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอตรวจอะไรบ้าง ?
เมื่อเราไปฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกาย สุขภาพครรภ์ ดังนี้
-
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) วัดความดันโลหิต
- สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์โดยการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) เพื่อประเมินอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น
- ตรวจเลือดคุณแม่เพื่อค้นหาโรคหรือความเสี่ยงแฝง ได้แก่
- คัดกรองโรคธาลัสซีเมีย Hb typing
- ความความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC
- การติดเชื้อซิฟิลิสVDRL
- การติดเชื้อ เอช ไอ วี Anti-HIV
- ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี HBsAg
- กรุ๊ปเลือดBlood group ABO, Rh
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด คัดกรองโรคเบาหวาน
- ตรวจปัสสาวะปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ
- ตรวจร่างกายทั่วไปของคุณแม่
- ตรวจเลือดคุณพ่อเพื่อคัดกรองธาลัสซีเมีย, และโรคเอดส์ กรุฟเลือด
เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยคุณแม่จะรับวิตามินหรือยาบำรุงร่างกายคุณแม่ พร้อมกลับมาฝากครรภ์ตามนัด โดยแพทย์จะนัดให้มาตรวจครรภ์โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส โดยจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

ช่วงไตรมาสที่ 1 (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 13 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน โดยมีการตรวจดังนี้
-
- ชั่งน้ำหนักวัดความดันโลหิต ทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
- ตรวจปัสสาวะ ทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่ามีน้ำตาล และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่
-
- ตรวจเลือดมารดาเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจเลือดวัดสารเคมีบ่งชี้ทารกดาวน์ซินโดรม
- ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 14-27 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน โดยมีการตรวจดังนี้
-
- ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปาก
- ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศของทารก และดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 28-40 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์อายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์
แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป
โดยมีการตรวจดังนี้
-
- ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
- ตรวจเลือดครั้งที่2 ความความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC การติดเชื้อซิฟิลิสVDRL การติดเชื้อ เอช ไอ วี Anti-HIV
- ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อคำนวนน้ำหนักตัวและตรวจสุขภาพทารกในครรภ์

คุณแม่จะเห็นได้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ในทุกไตรมาส จะมีการตรวจที่สำคัญในทุกช่วง ดังนั้นการตรวจเพื่อติดตามตลอดการตั้งครรภ์ จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ที่ได้รับจะเกิดกับลูกน้อย ในเรื่องของการตรวจดูพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพทั้งกาย และสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อทารกคลอดออกมา “การฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพ” จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่คุณแม่ทุกท่านควรตระหนัก และไม่ควรละเลย