; เส้นเอ็นข้อไหล่อักเสบ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

เส้นเอ็นข้อไหล่อักเสบ



         เส้นเอ็นข้อไหล่คือเส้นเอ็นขนาดเล็ก 4 เส้นที่อยู่บริเวณรอบข้อไหล่ เส้นเอ็นกลุ่มนี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบักทอดผ่านข้อไหล่และยึดเกาะส่วนบนของกระดูกต้นแขน ทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ เช่นกางแขน ยกแขน หมุนไหล่เป็นต้น

         โรคนี้จะปวดไหล่และมีการกดเจ็บและเคลื่อนไหวไหล่ได้น้อยลงมาก ในระยะแรกสาเหตุ คือ พยาธิสภาพที่เกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อ ในระยะต่อมาจะมีการอักเสบเสื่อมในตัวข้อไหล่เอง ทำให้ไหล่ติดแข็ง

อาการ

         ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่โดยเฉพาะเวลายกหรือขยับไหล่อาจมีอาการปวดร้าวลงไปบริเวณต้นแขนได้ บางคนอาจมีอาการขัด ขยับไหล่ลำบากหรือบวมบริเวณไหล่ร่วมด้วย อาการเริ่มแรกอาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้ายังมีการใช้งานต่อไป อาการปวดอาจรุนแรงมากขึ้น อาจปวดตอนกลางคืนหรือปวดตอนพักได้ รู้สึกแขนล้าไม่มีแรง สุดท้ายพิสัยการเคลื่อนไหวจะลดลงและทำกิจกรรมบางอย่างลำบาก เช่นสระผม เกาหลัง ติดกระดุมหรือรูดซิบที่อยู่ด้านหลัง


สาเหตุ

          การอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่เกิดจากการใช้งานไหล่ซ้ำๆกันโดยเฉพาะงานที่ต้องยกแขนสูง เช่นปัดฝุ่นหรือเช็ดถูประตู-หน้าต่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ ทาสีฝาผนังหรือเพดาน หรืองานหนักที่ต้องใช้แรงไหล่มาก เช่นงานที่ต้องยก แบกหรือหามของหนัก หรือพบในนักกีฬาที่ต้องยกแขนสูง เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ แบทมินตัน

การวินิจฉัย

          โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีกระดูกงอกบริเวณใกล้เคียงกับเส้นเอ็นไหล่ และทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกงอกกับเส้นเอ็น หรือแพทย์สงสัยโรคหรือภาวะอื่นๆของกระดูกและข้อไหล่ ในบางกรณีอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่นเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) เช่นมีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย 

การรักษา

          มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดและทำให้กลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น สุขภาพ อายุ และการใช้งานที่ต้องการ ซึ่งการรักษามี 2 แนวทาง ได้แก่

          1. การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด


         ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มการรักษาด้วยวิธีนี้ โดยอาการปวดจะค่อยๆลดลง และการใช้งานจะค่อยๆดีขึ้นจนกลับไปใช้งานได้ปกติ อาจใช้เวลาในการรักษานานหลายสัปดาห์จนกระทั่งหลายเดือน ประกอบด้วยหลายวิธี ได้แก่

          - การพักและปรับเปลี่ยนการใช้งาน เช่นหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยกแขนสูง
          - การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบ ลดอาการบวมและอาการปวดได้
          - การทำกายภาพบำบัด โดยการฝึกยืดเยื่อหุ้มข้อเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ให้สามารถกลับไปขยับและใช้งานได้เหมือนปกติ เมื่ออาการปวดลดลงแล้วจะเริ่มฝึกการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่
          - การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณรอบๆเส้นเอ็นที่อักเสบ สามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ ใช้ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการพัก การรับประทานอาหารและการทำกายภาพบำบัด

          2. การรักษาโดยการผ่าตัด


         ผู้ป่วยที่เป็นมานานและไม่ดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังต้องใช้งานไหล่มากหรือนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุและมีภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้วิธีส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ/หรือกรอหินปูน ผลการรักษาค่อนข้างดีมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถเริ่มกายภาพหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วคือหลังผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น

          ฉะนั้น อย่าละเลยอาการปวดอย่างเด็ดขาด เมื่อมีอาการปวดแบบไม่พึงประสงค์หรือดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาก่อนที่อาการจะลุกลาม