; โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า



        จากอุบัติการณ์ทั่วโลก สาเหตุของอาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งในเด็กเล็ก “เชื้อไวรัสโรต้า” นับเป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุด ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับอาการท้องร่วงที่มาจากการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะในอเมริกาที่มีการระบาดของโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคนี้นับล้านคน แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 100 คนต่อปี และรุนแรงที่สุดทั่วโลก โดยมีเด็กเสียชีวิตถึงปีละล้านคน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ของแต่ละพื้นที่ในการรักษาและช่วยชีวิตเด็กไว้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยจะเห็นได้ว่าแม้แต่ประเทศที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นจากกการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ฉะนั้นทุกคนควรหันมาทำความรู้จักกับไวรัสโรต้าให้มากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง


        แม้เชื้อไวรัสตัวนี้จะพบมากในช่วงฤดูหนาวแต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพอนามัย เพราะทุกคนสามารถรับเชื้อได้จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก ชอบอมของเล่นที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้าจะมีชีวิตอยู่ตามวัตถุสิ่งของในอุณภูมิปกติ โดยระยะฟักตัวของโรคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 48 ชั่วโมง

        ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก โดยมักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้ออาจติดตามมากับมือ ของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ  เมื่อเด็กสัมผัสและเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทำให้มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียได้


        คุณแม่อย่านิ่งนอนใจในอาการท้องร่วงของลูกน้อย เพราะถ้าละเลยโดยเฉพาะในเด็กอ่อน หากเป็นมากอาจช๊อคและเสียชีวิตได้

โดย 4 สัญญาณเตือนภัยร้ายจาก “ไวรัสโรต้า” ที่ควรรีบมาพบแพทย์  คือ มีอาการของการขาดสารน้ำรุนแรง ได้แก่

        1. มีอาการซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น
        2. มีอาการอาเจียนมาก หรือถ่ายมากผิดปกติ
        3. มีปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง
        4. มีอาการตาไหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือเด็กเล็ก ๆ จะมีกระหม่อมบุ๋ม

        อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคท้องร่วงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันไวรัสโรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่มียารักษา ดังนั้น การรักษาจึงสามารถทำได้โดยรักษาตามอาการเท่านั้น

        วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการล้างมือบ่อย ๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หมั่นดูแลทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันด้วยนมแม่และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งในปัจจุบันพ่อแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเริ่มหยอดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์