; โรคปอดบวมในเด็ก Pneumonia -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคปอดบวมในเด็ก Pneumonia





        โรคปอดบวม เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่เกิดการอักเสบของเนื้อปอดส่วนปลายสุด หรือการอักเสบของถุงลมเล็กๆ ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศภายในถุงลมไม่ดี ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตได้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เกิดมาน้ำหนักตัวน้อย เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กขาดสารอาหาร หรือเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด



        สาเหตุ
          - เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
          - เกิดจากการสำลักอาหารและนมอย่างรุนแรง

        การติดต่อ
          -  หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมาหรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
          -  ไอ จามรดกัน
          -  คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม
          -  สำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่โดยปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง



        อาการและอาการแสดง
          -  มีไข้
          -  ไอมาก ระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาเสมหะเหนียวข้น และอาจมีเลือดปนเนื่องจากมีการคั่งของน้ำในปอด
          -  หายใจเร็วหรือหายใจหอบ ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน อาจไม่มีอาการไอ แต่มีไข้ หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ ถ้ามีอาการรุนแรงเด็กจะไม่ดูดนมหรือน้ำ
          -  หายใจชายโครงบุ๋มขณะหายใจเข้า หายใจมีเสียงดังผิดปกติ

        การรักษา  ในเด็กที่ป่วยเป็นปอดบวม

          ในระยะแรก หรือไม่รุนแรง :  มีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็ว ควรพาไปรับการรักษาจากแพทย์ อาจให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 5 - 7 วัน เพื่อรักษาการอักเสบของปอด
          ในภาวะป่วยหนัก หรือรุนแรง :  จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมาก ปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียงดัง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

        การป้องกัน
        ในเด็กเล็กๆ จะต้องหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไอ โดยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่าย คือการอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 4 - 6 เดือน เด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนคุ้มกันโรคตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข



        ทำอย่างไรจึงจะปกป้องลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบได้
          - การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง และสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือเป็นประจำ จะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสมากับมือได้ หรือใส่หน้ากากอนามัย
          - ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ
          - หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
          - ปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine)