; โรคหัด (Measles) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคหัด (Measles)

 โรคหัด  เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 1-4 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Paramyxovirus ที่พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย

 

การติดต่อ

  • โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างการทางการหายใจ
  • มักพบในเด็กอายุมากกว่า 9 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากมารดามีระดับต่ำลง
  • ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอและแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนที่จะมีอาการไข้ ไปจนถึง 4 วัน หลังมีผื่นขึ้น
  • ระยะฟักตัว จากที่เริ่มสัมผัสโรค จนถึงมีอาการประมาณ 8 - 12 วัน ก่อนที่จะมีอาการไข้ ไปจนถึง 4 วัน หลังมีผื่นขึ้น

อาการ

  • มักมีอาการไข้นำมาก่อน 2 - 4 วัน และมีน้ำมูลไหล ไอ ตาแดง ร่วมด้วย อาการต่าง ๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะมีไข้สูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4
  • ลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้น โดยจะเริ่มขึ้นที่หน้า ไรผม แล้วกระจายไปทั่วลำตัว แขน ขา มักจะลามถึงเท้าภายใน 72 ชั่วโมง พบมากที่บริเวณส่วนกลางลำตัว ผื่นจะมีลักษณะเป็นจุดแดง ๆ ที่มารวมตัวกัน เวลาผื่นจางหายมักพบว่ารอยโรคมีสีเข็มและมักค่อย ๆ จางหายไปภายใน 7 - 10 วัน
  • อาการไข้มักจะสูงช่วงที่ผื่นเริ่มขึ้นและค่อย ๆ ลดลง และหายไปหลังจากผื่นลามถึงเท้า ถ้าไม่มีภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อน
  • การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้น จะพบจุดขาว ๆ บนพื้นแดงที่บริเวณเยื่อบุกระพุ้งแก้ม เรียกว่า  Koplik's spots ซึ่งจะพบอยู่ประมาณ 12 - 18 ชั่วโมง และค่อย ๆ จางหายไปหลังจากที่ผื่นขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยโรคหัดได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น

การวินิจฉัย

  • อาศัยอาการที่สังเกตได้บนตัวเด็ก ร่วมกับประวัติการฉีดวัคซีนและการสัมผัสโรค

 โรคแทรกซ้อน

  1. ระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดคออักเสบ หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม
  2. ภาวะแทรกซ้อนทางหู อาจเกิดหูชั้นกลางอักเสบ
  3. ภาวะแทรกซ้อนทางตา จะมีเยื่อบุตาอักเสบจนเป็นแผล
  4. ภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร มีอาการอักเสบของลำไส้ ทำให้ถ่ายเหลว หรืออุจจาระร่วง
  5. ภาวะแทรกซ้อนระบบส่วนกลาง สมองอักเสบ เป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศรีษะ และซึมลง

การรักษา

  1. ให้การรักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว
  2. กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
  3. การให้วิตามิน A เสริมในเด็กที่มีข้อบ่งชี้
  4. อาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

โรคจะหายเมื่อไหร่

        โดยทั่วไปโรคจะหายใน 10 - 14 วัน นับจากเริ่มมีอาการวันแรก และสามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้หลังจากไข้ลง หรือผื่นหายไปแล้ว 7 วัน

 

การป้องกัน 

  1. เมื่อสงสัยว่าเป็นหัด  ควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
  2. ให้ผู้ป่วยนอนพัก เช็ดตัวในช่วงที่ไข้สูงและให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่า
  3. แยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่น ๆ จนถึงระยะ 4-5 วัน หลังผื่นขึ้น
  4. ระวังโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เพราะระยะที่เป็นหัด เด็กจะมีความต้านทานโรคบางอย่างลดลง โดยเฉพาะวัณโรค ดังนั้นจึงต้องระวังการติดเชื้อจากผู้ใหญ่
  5. หลายคนเชื่อว่าเด็กต้องออกหัดทุกคน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยให้เด็กได้รับวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1  อายุระหว่าง 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 4-6 ปี