; โรคไทรอยด์ชนิดผอม ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid คอพอกเป็นพิษ) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคไทรอยด์ชนิดผอม ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid คอพอกเป็นพิษ)



โรคไทรอยด์ชนิดผอม 
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid คอพอกเป็นพิษ)

        เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ และมีอาการต่างๆ เช่น

- ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย
- หุนหันพลันแล่น เปลี่ยนความสนใจเร็ว
- หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือน้ำหนักลดลง
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ อุจจาระบ่อยขึ้น
- ประจำเดือนน้อยลงหรือขาดหายไป
- บางรายตาโปนขึ้น

        ผู้ป่วยบางรายมีอาการดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่บางรายอาจมีอาการเฉียบพลันได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากความเครียดหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ


 

สาเหตุสำคัญของไทรอยด์ชนิดผอม


1. การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์  รับประทานยาขนาดสูงกว่าที่ร่างกายต้องการหรือใช้เพื่อลดน้ำหนัก (ใช้ยาในทางที่ผิด)
2. โรค Graves' disease  เป็นภาวะที่ภูมิของร่างกายกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนออกมามาก ทำให้ผู้ป่วยมีต่อมไทรอยด์โต
3. โรค Multinodular toxic goiter  หมายถึง ภาวะมีก้อนหลายก้อนในต่อมไทรอยด์ หลั่งฮอร์โมนเพิ่มขึ้น
4. Thyroiditis  มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีฮอร์โมนมากกว่าปกติ

วิธีการตรวจเช็คความเสี่ยงโรคไทรอยด์

1. พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
2. ซักถามอาการเพิ่มเติม
3. เจาะเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยตรวจหาระดับฮอร์โมน 3 ชนิด
    - Thyroxine (T4)
    - Triiodothyronine (T3)
    - Thyroid stimulating hormone (TSH)

        บางรายจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ภูมิคุ้มกัน antibody ต่อตัวรับ TSH ที่ต่อมไทรอยด์ (TSH receptor antibody) antibody ต่อไทโรเพอรอกซิเดส (thyroperoxidase antibody) antibody ต่อไทโรกลอบูลิน (thyroglobulin antibody) การสแกนต่อมไทรอยด์ (thyroid scan and uptake)

การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มีดังนี้

การรับประทานยา เพื่อลดการสร้างฮอร์โมน
        ยาต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ ได้แก่ ยาเมทิมาโซล (methimazole) ยาโพรพิลไทโอยูราซิล (propylthiouracil) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ รับประทานนาน 1-1.5 ปี จึงค่อยพิจารณาหยุดยา มีโอกาสแพ้ยาได้แต่น้อยมาก ยาบีต้าบลอคเกอร์ (beta-blocker) เป็นยารับประทานแก้ใจสั่น จะให้คู่กับยาต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ในช่วงที่ภาวะไทรอยด์เป็นพิษมาก หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว สามารถให้ยาบีต้าบลอคเกอร์เป็นครั้งคราวเมื่อมีใจสั่น

การใช้ไอโอดีนรังสี Radioactive iodine
        สารรังสีนี้จะถูกขับอย่างรวดเร็วและไม่ตกค้างในร่างกาย วิธีนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยา รับประทานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่สามารถหยุดยาได้ ผลข้างเคียงคือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นภาวะที่รักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนได้

รักษาด้วยการผ่าตัด
        สามารถลดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้ทันที เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีคอพอกขนาดใหญ่ สงสัยว่ามีมะเร็งร่วมด้วย หรือรักษาด้วยการใช้ไอโอดีนรังสีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ข้อเสียคือต้องดมยาสลบผ่าตัด อาจเกิดเสียงแหบหรือภาวะแคลเซี่ยมต่ำ ถ้าผ่าตัดในมือศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเกิดผลแทรกซ้อนน้อย