; โรคไทรอยด์ชนิดอ้วน ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroid) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคไทรอยด์ชนิดอ้วน ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroid)




โรคไทรอยด์ชนิดอ้วน ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroid)


        เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ จึงมีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ และมีอาการต่างๆ เช่น
        - เฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร
        - ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง
        - น้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุ
        - เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว
        - ท้องผูก
        - บางรายประจำเดือนผิดปกติ

        ผู้ป่วยบางรายมีอาการดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่บางรายอาจมีอาการเฉียบพลันได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากความเครียดหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

 
สาเหตุของไทรอยด์ชนิดอ้วน


        1. โรคไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต้ (Hashimoto's thyroiditis) เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของต่อมไทรอยด์ และก่อให้เกิดพังผืดตามมา ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง มักพบในผู้หญิงอายุน้อยและมีประวัติครอบครัว
        2. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เกิดตามหลังการผ่าตัดเพื่อรักษาเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจากโรคไทรอยด์เกรฟส์
        3. การได้รับไอโอดีนรังสี
        4. เป็นแต่กำเนิด
        5. ผลข้างเคียงจากยา เช่น อะมิโอดาโรน (amiodarone), ลิเที่ยม (lithium) อินเตอร์เฟียรอบอัลฟ่า (interferon alpha), อินเตอร์ลิวคิน-2 (interleukin-2)
        6. ภาวะขาดไอโอดีน

วิธีการตรวจเช็คความเสี่ยงโรคไทรอยด์

        เนื่องจากอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ และมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ เมื่อมีอาการที่สงสัยควรปฏิบัติ ดังนี้
        1. พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
        2. ซักถามอาการเพิ่มเติม       
        3. เจาะเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยตรวจหาระดับฮอร์โมน 2 ชนิด 
            - Thyroxine (T4)
            - Thyroid stimulating hormone (TSH)
        การค้นหาสาเหตุของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมในกรณีสงสัยโรคไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต้ เช่น ภูมิคุ้มกัน antibody ต่อไทโรเพอรอกซิเดส (thyroperoxidase antibody) antibody ต่อไทโรกลอบูลิน (thyroglobulin antibody)

ไทรอยด์สามารถรักษาได้ การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ มีดังนี้


        1. ให้ยารับประทานฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน (levothyroxine) ทดแทน  ส่วนใหญ่ต้องให้ตลอดชีวิต ยกเว้นในรายที่ภาวะพร่องฮอร์โมนไทยรอยด์เป็นชั่วคราว  ฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน เป็นฮอร์โมนที่เหมือนจากต่อมไทรอยด์ผลิตออกมา จึงมีความปลอดภัยสูงถ้าให้ขนาดยาที่เหมาะสม
        2. ติดตามระดับ thyroid-stimulating hormone (TSH) ตั้งแต่ 1 เดือน หลังเริ่มยา ถ้าได้ระดับ TSH ปกติแล้ว ให้ติดตามห่างขึ้นเป็นทุก 6 เดือนถึง 1 ปี
        3. ถ้ามีภาวะตั้งครรภ์หรือมียาอื่นๆที่อาจรบกวนการดูดซึมหรือเมแทบอลิซึมของฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน ควรมีการประเมินภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์อีกครั้ง ไม่ควรหยุดยารับประทานเอง เพราะอาจเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่เป็นรุนแรงได้ ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจระดับ TSH เป็นระยะ