; ไขมันคั่ง สะสมในตับ (Non-alcoholic steatohepatitis) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไขมันคั่ง สะสมในตับ (Non-alcoholic steatohepatitis)


       
        โรคไขมันคั่งสะสมในตับ คือ ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ อยู่ในเซลล์ของตับ อาจมีเพียงแค่ไขมันคั่งอยู่ในเซลล์ตับ หรือมีการอักเสบของตับร่วมด้วย สาเหตุที่พบบ่อยคือ จากการที่ดื่มสุรา ยาบางชนิด หรือสารพิษ ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย เป็นต้น

        แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะไขมันคั่งสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งเรียภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) แต่ถ้ามีการอักเสบของตับร่วมกับมีการบวมของเซลล์ตับร่วมด้วยก็จะเรียกภาวะนี้ว่า Non-alcoholic steatohepatitis

ไขมันคั่งสะสมในตับพบได้บ่อยแค่ไหน

        จากการศึกษาพบว่าประชากรประมาณร้อยละ 10 - 20 พบว่ามีภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ โดยการตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวนด์ และประมาณร้อยละ 1 - 3 ของประชากร จะมีการอักเสบของตับหรือที่เรียกว่า NASH ร่วมด้วย และถ้าดูผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยเรื่องภาวะตับอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี, ซี, การดื่มสุรา หรือรับประทานยาแล้วพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีภาวะไขมันคั่งสะสมในตับที่อาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง

สาเหตุ

        ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน คิดว่ามีหลายสาเหตุ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าภาวะร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีก ซึ่งกลุ่มอาการที่สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ
        - อ้วน  ซึ่งมักจะอ้วนที่ลำตัวมากกว่าแขน
        - เป็นเบาหวาน
        - มีไขมันในเลือดสูง
        - มีความดันโลหิตสูง

        พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่มีไขมันคั่งสะสมในตับจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่แสดงอาการดื้อต่ออินซูลินให้เห็น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบของตับนั้น จะมีได้หลายปัจจัยที่นอกเหนือไปจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น สารพิษ และยาบางชนิด

อาการและอาการแสดง

        1. มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดตรวจสุขภาพ
        2. ในบางรายอาจมีอาการปวด แน่น บริเวณใต้ชายโครงขวา
        3. ในบางรายอาจจะมีอาการอ่อนเพลียง่ายเมื่อโรคตับเป็นมากแล้ว
        4. ตรวจร่างกายผู้ป่วยมักจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติยกเว้นอาจจะพบว่าผู้ป่วยอาจจะอ้วน ซึ่งมักจะเป็นอ้วนแบบลงพุง
        5. ในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว ก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรัง หรือตับแข็งร่วมด้วย
        6. การเจาะเลือดดูการทำงานของตับ อาจจะพบค่า AST กับ ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5 เท่า ถึง 4 เท่า อาจจะมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าอื่นๆ มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ


ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับมีอันตรายหรือไม่

        ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด โดยแบ่งตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ดังนี้

        ชนิดที่ 1  ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย
        ชนิดที่ 2  ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย
        ชนิดที่ 3  ชนิดนี้จะมีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับและมีการบวมโตของเซลล์ตับ
        ชนิดที่ 4  จะเป็นแบบชนิดที่ 3 แต่มีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจมีพังผืดในตับร่วมด้วย

        ชนิดที่ 1 และ 2 มักจะสบายดีแม้ว่าจะติดตามไปเป็นระยะเวลา 10 - 20 ปี ก็ยังปกติดี ไม่มีอาการของโรคตับเรื้อรังเกิดขึ้น
        ชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้ถึงร้อยละ 20 - 28 ในเวลา 10 ปี

        ดังนั้น  แม้ว่าโดยรวมดูเหมือนว่าภาวะไขมันคั่งสะสมในตับไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยที่เป็นชนิดที่ 3 และ 4 จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งและอาจเสียชีวิตได้ ไม่ต่างจากไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ปัจจุบันข้อมูลยังบ่งชี้ว่าตับอักเสบเรื้อรังเกิดจากภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว

จะตรวจได้อย่างไรว่ามีไขมันคั่งสะสมในตับ

        1. โดยการเจาะเลือดดูการทำงานของตับว่มีการอักเสบ (ค่า AST, ALT สูงกว่าปกติ) ดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือดว่าสูงกว่าปกติ
        2. ตัดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับออกไปก่อน เช่น การดื่มสุรา การรับประทานยา ตับอักเสบจากไวรัส ซี และภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย
        3. การตรวจอัลตร้าซาวนด์ จะพบว่าตับอาจมีขนาดโตขึ้นและมีลักษณะขาวขึ้นกว่าไตและม้าม
        4. ตรวจโดยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT SCAN หรือ เอกซเรย์สนามแม่เหล็ก MRI
        5. เจาะชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา

        โดยทั่วไปเรามักจะทำการวินิจฉัยโดยวิธีที่ 3 และ 4
        ข้อแรก จะพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเฉพาะในรายที่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย และไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและประเมินความรุนแรงของโรค หรือในกรณีที่คิดว่าภาวะอักเสบของตับ อาจจะเกิดสาเหตุอื่นร่วมด้วย


จะรักษาไขมันคั่งสะสมในตับอย่างไร

         1. การลดน้ำหนัก ในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วน ซึ่งควรลดโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหาร คือ หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส กุ้ง ปูไข่ ไข่แดง และเนื่องจากไตรกลีเซอไรด์เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับ ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น ไม่ควรลดน้ำหนักโดยวิธีการงดอาหารและไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรงได้
         2. มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะเป็นการลดน้ำหนักอย่างถูกสุขภาพ และเป็นการช่วยสลายไขมันออกจากตับได้ดี
         3. รักษาควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณ๊ที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน
         4. รักษาควบคุมระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในกรณีที่ผู้ป่วยมีไขมันในเลือดสูง
         5. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น

         ข้อควรระวัง  ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงหลายตัวนั้น มีผลข้างเคียงทำให้เกิดตับอักเสบเอง จึงควรเริ่มต้นด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายก่อนจะใช้ยาต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ชัดเจน

อ้างอิงจาก : หน่วยโรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
                 รศ.นพ.ธีระ  พิรัชวิสุทธิ์