; ไขมันในเลือดสูง -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไขมันในเลือดสูง



        ไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับโคเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ไขมันในเลือดมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่


1. โคเลสเตอรอล

        ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองและอีกส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร ปกติระดับโคเลสเตอรอลรวมในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งโคเลสเตอรอลแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

        1.1 โคเลสเตอรอลชนิดอันตราย (Low Density Lipoprotein-LDL)
              ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลไปเกาะตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นจนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะแข็งและแคบลง ค่าปกติควรน้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
        1.2 โคเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein-HDL)
              ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เกาะตามผนังหลอดเลือดแดงไปเผาผลาญที่ตับ และขับออกมาเป็นน้ำดีที่ลำไส้ ควรมีค่ามากกว่า 45 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2. ไตรกลีเซอไรด์

        เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเอง และอีกส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร ปกติแล้วในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร




สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

        1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
        2. กินอาหารที่มีไขมันที่มีโคเลสเตอรอลสูง หรืออาหารที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย
        3. โรค หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน โรคไต ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
        4. การดื่มสุราในปริมาณมากเป็นประจำ
        5. ขาดการออกกำลังกาย




ภาวะแทรกซ้อนจากไขมันในเลือดสูง

        1. โรคหัวใจขาดเลือด
        2. อัมพฤกษ์ อัมพาต
        3. ไตวาย
        4. ตามัว หรือตาบอด
        5. ตับอ่อนอักเสบ ตับ ม้ามโต

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อไขมันในเลือดสูง

        1. มีอายุเกิน 40 ปี ขึ้นไป
        2. มีบุคคลในครอบครัวมีภาวะไขมันในเลือดสูง
        3. มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
        4. เป็นโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ
        5. ผู้ที่สูบบุหรี่

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง

        1. หากต้องการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและมาตรวจตามนัด
        2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยการควบคุมอาหาร
            - ควรจำกัดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น สมองสัตว์ ไข่แดง ปลาหมึก ตับ ไข่นกกระทา
            - ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ หมูสามชั้น หนังไก่ หมูหัน ขาหมู
            - งดอาหารที่ทำมาจากกะทิ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทขนมหวานต่างๆ
            - ควรรับประทานอาหารที่มีใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ถั่วต่างๆ ผัก ผลไม้ที่มีรสหวานน้อย
            - ควรปรุงอาหารโดยวิธีต้ม ย่าง อบ นึ่ง ปิ้ง ลวก
        3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
        4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
        5. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส พักผ่อนให้เพียงพอ