; ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

              ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจ เกิดขึ้นทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็ก โรคนี้มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาและมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ Influenza Virus ซึ่งอยู่ในน้ำมูกและเสมหะของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็วกว่าไข้หวัดธรรมดาปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน

การติดต่อ

  • เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยการหายใจ ได้รับน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก

  • การสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ

  • การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตาหรือเอาเข้าปาก

 

อาการของโรค

1. ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน

  • ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน

  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

  • ปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตัว

  • ไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียส

  • เจ็บคอและคอแดง มีน้ำมูกใสไหล ไอแห้งๆ ตัวจะร้อนแดง ตาแดง

  • อาการอาเจียนหรือท้องเดิน มีไข้ 2 – 4 วัน แล้วค่อยๆลดลง แต่อาการคัดจมูกละแสบคอ ยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายภายใน 1 สัปดาห์

2. สำหรับรายที่เป็นรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน และมักเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วย เช่น

  • อาจจะพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวายผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย

  •  ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย

  •  โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายจะไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ มักจะเกิดอาการปวดบวมและโรคหัวใจหรืออาการตามโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

 

ระยะติดต่อ

  •  ระยะเวลาติดต่อคนอื่นคือ 1 วัน ก่อนเกิดอาการ

  • 5 วัน หลังมีอาการ

  • ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วัน ก่อนมีอาการและแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

โรคแทรกซ้อน 

  • ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้ปอดบวม ฝีในปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด

  • ไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อมารดามักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจจะทำให้แท้งได้

  • ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดหรือโรคหัวใจ อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

 

ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้โดย

  •  นอนพักผ่อนมากๆไม่ทำงานหนัก

  • ดื่มน้ำเปล่า ผลไม้ และน้ำหวานมากๆ หรืออาจจะดื่มน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย

  • รับประทานอาหารอ่อนๆ

  • ไม่อาบน้ำเย็น เวลามีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เมื่อไข้ลดลงแล้ว ควรอาบน้ำอุ่นอีกซัก 5 วัน

  • เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก

  • หมั่นล้างมือให้สะอาด

  • หลีกเลี่ยงจากที่สาธารณะ ในช่วงที่มีการระบาด

 ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด

  •  ไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เอง และท่านสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้

 ผู้ป่วยเด็กควรปรึกษาแพทย์เมื่อใด

  •  มีไข้สูงต่อเนื่อง ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5 องศาเซลเซียส

  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก

  •  มีอาการมากกว่า 7 วัน

  • ริมฝีปากมีสีม่วงหรือเขียว

  • เด็กดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่พอ

  • เด็กซึมลง ไม่เล่น

  •   เด็กไข้ลดลง แต่หายใจหอบ

 ผู้ป่วยผู้ใหญ่ควรปรึกษาแพทย์เมื่อใด

  • มีไข้สูงต่อเนื่อง

  • หายใจลำบก หรือหายใจหอบ

  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก

  • หน้ามืด เป็นลม

  • สับสน

  • อาเจียน หรือรับประทานอาหารไม่ได้

 ผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการต่อไปนี้ ต้องเข้าโรงพยาบาล

  • มีการขาดน้ำไม่สามารถดื่มน้ำได้เพียงพอ

  • ไอแล้วมีเสมหะปนเลือด

  • หายใจลำบาก หายใจหอบ

  • ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียว

  • มีไข้สูงมากจนมีอาการเพ้อ

  • มีอาการไข้และไอ หลังจากที่อาการไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว

 ระยะเวลาพักฟื้น

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายภายใน 2 – 3 วัน ไข้จะหายภายใน 7 วัน อาการอ่อนเพลียอาจจะคงอยู่นาน 1 – 2 สัปดาห์

การป้องกัน

  • ล้างมือบ่อยๆ

  • หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา

  • อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วย

  • เวลาไอ หรือจาม ให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก

 การป้องกันอื่นๆ

  • รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง