; ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever)

ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติ ไปจนถึงไข้เลือดออกรุนแรงทำให้เกิดเลือดออก ภาวะช็อก ไปจนถึงเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1.ระยะไข้สูง

ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 3-5 วัน หน้าแดง ตาแดง ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา

2.ระยะวิกฤต

เป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังมักเกิดใน 3-7 วันหลังจากที่มีไข้สูง จะมีอาการไข้ลดลงแต่ผู้ป่วยกลับมีอาการแย่ลง ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืดมากขึ้น หายใจลำบาก กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำจะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออก เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดถ่ายอุจจาระสีดำ หากมีภาวะช็อกจะมีชีพจรเต้นเร็วและเบา ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย ไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ ระยะวิกฤตจะกินเวลานาน 2-3 วัน

3.ระยะฟื้นตัว

เป็นระยะสุดท้ายหลังจากผ่านระยะไข้สูง หรือผู้ป่วยที่ผ่านรยะวิกฤตมาแล้ว 1-2 วันอาการจะดีขึ้น ผู้ป่วยจะมีความอยากอาหารมากขึ้น ผื่นสีแดงตามร่างกาย ปัสสาวะออกมากขึ้น

อาการที่สงสัยไข้เลือดออก

  1. ไข้สูง 39- 40 องศาเซลเซียสเกิน 2 วัน
  2. ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดกระบอกตา
  3. อ่อนเพลีย
  4. เบื่ออาหาร
  5. อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด
  6. จุดเลือดออกจามผิวหนัง
  7. เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีดำ

หากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์ทันทีเพื่อให้การวินิจฉัย โดยแพทย์จะซักประวัติการระบาดของไข้เลือดออกในชุมชนและถิ่นระบาด ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อยู่ในระยะไข้สูงและระยะวิกฤตจะต้องให้การดูแลใกล้ชิดเพื่อติดตามและป้องกันภาวะช็อก โดยให้การรักษาดังต่อไปนี้

  1. การให้ทานน้ำเกลือแร่(ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย
  2. การให้สารน้ำทางหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่อาเจียน, ถ่ายเหลวมาก ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารได้น้อย
  3. การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) และห้ามใช้ยากลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และ ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  (NSIADs) เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

ร่วมกับการดูแลเช็ดตัวลดไข้ แนะนำให้ทานอาหารอ่อนหรือย่อยง่าย และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และงดอาหารสีดำหรือสีแดง เพื่อสังเกตอาการเลือดออกในทางเดินอาหารที่จะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำ

ในระหว่างการรักษาจะตรวจเลือดติดตามเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังเกล็ดเลือดต่ำ และเม็ดเลือดแดงเข้มข้น ที่จะบ่งบอกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก

การป้องกัน

  1. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ปัจจุบันวัคซีนสามารถครอบคลุมได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 4-60 ปี จำนวน 2 เข็มห่างจากเข็มแรก 3 เดือน และในผู้ป่วยไข้เลือดออกแนะนำรับวัคซีนหลังหายจากโรค 6 เดือน เนื่องจากการติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งที่ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงที่มากขึ้น โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 80%
  2. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และถุงเท้า
  3. ปิดหน้าต่างหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุง นอนในมุ้ง
  4. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในและรอบบริเวณบ้าน โดยใช้ฝาปิดครอบภาชนะและกำจัดแหล่งน้ำขัง

 

ข้อควรระวัง

 “ไข้เลือดออกเป็นแล้วเป็นซ้ำ และเพิ่มโอกาสในการเป็นโรครุนแรงมากกว่าครั้งแรก”
 “ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ได้แก่ น้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัว และไปรักษาที่โรงพยาบาลล่าช้า”

 

กลยุทธ์ 5 ป. และ 1 ข. ประกอบด้วย

  1. เปลี่ยน    เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
  2. ปิด          ปิดภาชนะ น้ำกินน้ำใช้มิดชิด หลังการตักใช้น้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
  3. ปล่อย     ปล่อยปลาหางนกยูง กินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 
  4. ปรับปรุง  ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
  5. ปฏิบัติเป็นประจำ     ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1 ข.  ขัดไข่ยุงลาย


    เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1 - 2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วม ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้น เมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมแตกตัวเป็นลูกน้ำภายใน 30 นาที ในช่วงชีวิตประมาณ 60 วันของยุงลายตัวเมีย 1 ตัว ไข่ครั้งละ 50 - 150 ฟอง  4 - 6 ครั้ง จำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะโดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงชนิดนุ่ม ช่วยในการการขัดล้างและทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดิน เพื่อให้ไข่แห้งตาย