; ไวรัสตับอักเสบ บี -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไวรัสตับอักเสบ บี



        ไวรัสตับอักเสบบี เป็นปัญหาอย่างมาก ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 350 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยคาดว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ



อาการ

        ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาการทั่วไปคือ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตาเหลือง ที่เรียกว่า "ดีซ่าน" อุจจาระสีคล้ำ อ่อนเพลีย อาการดังกล่าวจะมีอยู่ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และจะค่อยๆ ทุเลาลงจนหายสนิทในเวลา 2 - 3 เดือน

การตรวจหาเชื้อ

        ท่านควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดย..

        - การตรวจการทำงานของตับ โดยการตรวจหาระดับเอนไซม์ในเซลล์ตับที่เรียกว่า เอสจีโอที (SGOT หรือ AST) และเอสจีพีที (SGPT หรือ ALT) ค่าปกติของทั้งสองค่านี้จะน้อยกว่า 40 IU/L หากค่าที่ตรวจสูงกว่าค่าปกติ 1.5 - 2 เท่า หรือมากกว่า แสดงว่าตับกำลังอักเสบ

        - การตรวจเชื้อไวรัส การตรวจแอนติเจนผิวของไวรัสตับอักเสบ (HbsAg) จะบ่งชี้ว่าท่านมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่หรือไม่ หากไม่มีเชื้ออาจตรวจหาภูมิต่อไวรัสบี ที่เรียกว่า Anti HBs  สำหรับผู้ป่วยที่มีไวรัสบี อาจตรวจหาอีแอนติเจนของไวรัสตับอักเสบบี (HbeAg) ถ้าผลเป็นบวก แสดงว่าเชื้อไวรัสกำลังแบ่งตัวปริมาณมากและเป็นช่วงที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์

        - การตรวจดูลักษณะโครงสร้างของตับ เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียง (อัลตราซาวนด์) ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีตับแข็งหรือมะเร็งตับร่วมด้วย

        - การตรวจชิ้นเนื้อตับ แพทย์อาจจะขอทำการเจาะตับเพื่อนำชิ้นเนื้อตับมาตรวจ โดยการดูดชิ้นเนื้อปริมาณน้อยมาก แพทย์จะฉีดยาชาและใช้เข็มเล็กๆ ดูดออกมา โดยไม่ต้องผ่าตัดซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความรุนแรงของโรคได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

การปฏิบัติตัว

        การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ
        - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม
        - งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
        - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
        - ทำจิตใจให้สบาย พยายามลดความเครียดหรือวิตกกังวล

การติดต่อ

        เชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีอยู่ในเลือด น้ำเหลือง และส่วนที่เป็นของเหลวของร่างกาย ติดต่อกันได้โดย
        - การฉีดยา ถ้าเข็มและกระบอกฉีดยาฆ่าเชื้อไม่สะอาด
        - การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่
        - การทำฟัน ทำการผ่าตัด ถ้าเครื่องมือไม่สะอาด
        - มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะ
        - ทางบาดแผล เช่น ถูกเข็มแทง การเจาะรู การฝังเข็ม การสัก ฯลฯ
        - การใช้ของร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด
        - การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก หากแม่เป็นพาหะของโรค การติดเชื้อเกิดขึ้นได้โดยการสัมผัสกับเลือดขณะคลอด และในระยะหลังคลอดขณะเลี้ยงดู โดยติดเชื้อจากน้ำนมหรือจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับแม่

การป้องกัน

        - ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการป่วยด้วยโรคตับอักเสบ
        - ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
        - มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
        - บุคลากรทางการแพทย์ต้องฆ่าเชื้อเครื่องมือให้สะอาดก่อนใช้รักษาผู้ป่วย
        - เด็กแรกเกิดควรได้รับวัคซีนมากที่สุด เพราะติดเชื้อได้ง่าย ทั้งจากแม่และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นพาหะและจากผู้อื่น เด็กที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่อายุน้อยมีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตมากกว่าติดเชื้อตอนเป็นผู้ใหญ่