; การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์

การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 1

         สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

         ขนาดของทารกยังเหมือนวุ้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว 5-7 วันจะฝังตัวที่ผนังมดลูก ไข่จะเจริญอย่างรวดเร็ว ตัวอ่อน ซึ่งจะมีการสร้างรกและสายสะดือ เพื่อเป็นทางนำอาหารจากแม่สู่ลูกและขับของเสียจากลูกสู่แม่ เด็กจะอยู่ในถุงน้ำ ซึ่งเรียกว่า “amniotic  sac” ซึ่งป้องกันแรงเด็กจากการกระแทก เปรียบเสมือนห้องนอนของลูก

         สัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์

         จะมีการสร้างประสาทไขสันหลังและกระดูกสันหลังรวมทั้งเส้นประสาท เมื่อเวลาผ่านไป 6 สัปดาห์เด็กจะมีหัวและลำตัว

         สัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์

         เซลล์จะแบ่งตัวประมาณ 150 เซลล์และแบ่งเป็น 3 ชั้นได้แก่

         - ชั้นนอก ectoderm ซึ่งจะสร้าง สมอง เส้นประสาทและผิวหนัง
         - ชั้นกลาง mesoderm ซึ่งจะกลายเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเลือด หัวใจและอวัยวะเพศ
         - ชั้นใน endoderm ซึ่งจะกลายเป็นอวัยวะภายในเช่น ตับ  หัวใจ กระเพาะ ปอด เป็นต้น

         ทารกจะมีขนาดประมาณ 1/4 นิ้ว เริ่มมีการสร้างหัวใจ (5 - 6 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ตาและแขน แต่ยังฟังเสียงหัวใจไม่ได้  สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 6 เด็กจะมีขนาดครึ่งนิ้ว

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 1 
         
         ในระยะแรกของการตั้งครรภ์จะมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นและอืดท้อง คัดเต้านม อารมณ์จะผันผวนเหมือนก่อนมีประจำเดือน คุณแม่บางท่านอาจจะมีอาการเลือดออกเล็กน้อยเนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวอาการต่างๆจะเป็นมากน้อยในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 2

         ระยะนี้เป็นระยะสำคัญที่สุดเนื่องจาก จะมีการเจริญเติบโตเร็วมาก ดังนั้นไม่ว่าการติดเชื้อไวรัส ยาที่รับประทาน หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หากเด็กได้รับช่วงนี้ จะเกิดความพิการได้ เริ่มมีการสร้าง แขน ขา ตา ในช่วงสัปดาห์ที่ 7-8 จะเริ่มสร้างนิ้วมือ อาจจะได้ยินเสียงหัวใจเด็กเมื่อตรวจด้วย Ultrasound เมื่อสิ้นสุดเดือนที่สองอวัยวะต่างๆจะพัฒนา เช่น สมอง ตับ หัวใจ กระเพาะ นิ้ว มือ หู และอวัยวะเพศ ในระยะนี้เด็กจะมีขนาด 1 นิ้วเราเรียกระยะนี้ว่า Fetus

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 2    

         น้ำหนักจะเริ่มเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ยังแพ้ท้องอยู่น้ำหนักอาจจะไม่เพิ่ม เสื้อผ้าจะเริ่มคับ เต้านม ขาจะใหญ่ขึ้น ผู้ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะเกิดอาการของคนตั้งครรภ์คือ รู้สึกเหนื่อย ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียนท้องผูก ท้องอืด คัดเต้านม หัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น ปวดศีรษะ รู้สึกว่าเสื้อผ้าจะคับ อารมณ์ยังคงผันผวน คุณแม่บางคนอาจจะมีอาการปวดท้องน้อยเป็นระยะเนื่องจากการบีบตัวของมดลูก

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 3

         เด็กทารกวัยนี้จะมีอวัยวะครบถ้วน เริ่มมีการขยับแขน ขา ศีรษะ อ้าปากและหุบปากได้ นิ้วเริ่มมีเล็บ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเนื่องจากเด็กยังมีขนาดเล็ก แขนและมือจะมียาวกว่าขา ศีรษะเด็กจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัวหัวใจจะมี 4 ห้อง หัวใจจะเต้น 120-160 ครั้ง ไตเริ่มขับของเสียสู๋กระเพาะปัสสาวะและถูกนำออกโดยสายสะดือ เด็กในระยะนี้จะมีความยาว 4 นิ้ว

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 3

         เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและตรวจนับอัตราการเต้นของหัวใจ ขนาดของมดลูกเพื่อเปรียบเทียบกับอายุครรภ์ระยะนี้ยังคงมีอาการของคนแพ้ท้อง จะพบว่าเส้นเลือดที่นม ท้อง ขา เริ่มขยาย ท้องจะเริ่มโต ผู้ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกอยากอาหาร อารมณ์จะผันผวนน้อยลง

โภชนาการในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์


         อาหารในช่วงไตรมาสแรกนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเน้นอาหารที่เสริมสร้างเนื้อเยื่อ และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาหารในช่วงนี้ต้องเน้นที่ โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็กและโฟเลต ควรแบ่งเป็นมื้ออาหารดังนี้

         1. เน้นกินไข่วันละ 1 ฟอง ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่เจียวหรือไข่ดาว เน้นปรุงแต่งให้สุกและใช้น้ำมันน้อย
         2. นมวัว หรือนมถั่วเหลือง ดื่มเพียงวันละ 1-2 แก้วเท่านั้น
         3. อาหารที่มีธาตุเหล็กควรเน้นกินเป็นประจำทุกวัน เช่น ตับ ไข่แดง งาดำ ถั่วเมล็ดแห้ง ไม้ผลเน้น ทับทิม ลูกพรุน ลูกเกด กล้วยตาก ผักใบเขียวเน้นคะน้า ตำลึง ผักหวาน บร๊อคโคลีและใบยอ
         4. กินโฟเลต โฟเลตจะมีอยู่มากในผักใบเขียวและผลไม้สีออกเหลืองส้ม เช่นมะละกอ แคนตาลูป หน่อไม้ฝรั่ง และพวกธัญพืชไม่ขัดสี เช่นข้าวซ้อมมือ

         อาหารที่คุณแม่ควรกินทุกๆไตรมาส คือ โปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็กเพราะมีผลเรื่องการเจริญเติบโตของลูก

 

การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 4

         ผิวหนังเด็กจะมีสีชมพูและใส ขนคิ้วและขนตาเริ่มงอก เริ่มมีการสร้างหูชั้นนอก หน้าตามีการพัฒนาเพิ่มขึ้น คอยาวขึ้นทำให้หน้าและลำตัวแยกจากกันศีรษะจะมีขนาดเล็กลงประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัวเด็กทารกวัยนี้จะสามารถลืมตา กลืนน้ำ มีการนอน ตื่น การเคลื่อนไหว แตะ คุณแม่จะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวนี้ได้เรียก Quickening ให้จดวันที่เด็กเริ่มเคลื่อนไหวไว้ให้แพทย์ประกอบการพิจารณาวันกำหนดคลอด การตั้งครรภ์เดือนที่ 4 นี้ทารกจะมีขนาด 8-10 นิ้ว

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 4

         เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะ วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดขนาดของมดลูก วัดความยาวของมดลูก ซึ่งจะต้องตรวจทุกครั้งที่คุณแม่มาฝากครรภ์ โดยทั่วไปอาการของคนท้องจะดีขึ้นในช่วงนี้ เช่นอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการปัสสาวะบ่อย คัดเต้านม อาการต่างๆเหล่านี้จะลดลง แต่ยังคงมีอาการ เช่นแน่นท้อง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอกจากนั้นยังมีอาการที่เกิดขึ้นใหม่ เช่นคัดจมูก เลือดกำเดาไหล หูอื้อ เลือดออกตามไรฟัน หลังเท้าบวมเล็กน้อย เส้นเลือดขอดที่ขา อาจจะมีริดสีดวงทวาร ตกขาว ในระยะนี้สมควรที่จะใส่ชุดคลุมท้องและเตรียมยกทรงหากเต้านมมีขนาดเพิ่มขึ้น แพทย์จะเริ่มได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจเด็กระยะนี้คุณแม่จะหิวบ่อยขึ้น แนะนำให้รับประทานอาหารบ่อยขึ้น แต่ไม่แนะนำให้รับประทานปริมาณอาหารเพิ่ม อาจจะบ่อยเพิ่มเป็นสองเท่า และควรจะรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อแม่และลูก หากเป็นไปได้ให้จดชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานเพื่อเปรียบเทียบกับอาหารมาตรฐานหรือนำไปปรึกษาแพทย์ อารมณ์ช่วงนี้ยังผันผวน เสื้อผ้าเดิมเริ่มคับ หลงลืมบ่อย น้ำหนักคุณแม่เริ่มเพิ่มขึ้นในระยะแรกของการตั้งครรภ์น้ำหนักอาจจะไม่เพิ่มเนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง แต่เมื่อย่างเข้าระยะนี้น้ำหนักควรจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม แต่ระยะใกล้คลอดน้ำหนักอาจจะไม่เพิ่มหรือลดลงซึ่งเป็นเรื่องปกติ คนปกติเมื่อตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10-17 กิโลกรัม สำหรับครรภ์แฝดอาจจะเพิ่มประมาณ 17 - 20 กิโลกรัม โดยเป็นน้ำหนักทารก 3 - 4 กิโลกรัม น้ำหนักรกและน้ำคร่ำ 1.5 - 3 กิโลกรัม ไขมัน น้ำ และเลือดประมาณ 7 - 8 กิโลกรัม

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 5

         เด็กทารกช่วงนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อวัยวะทำงานได้เต็มที่ เด็กเริ่มมีลายนิ้วมือ กล้ามเนื้อจะแข็งแรงมากขึ้น ตับจะเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง ถุงน้ำดีเริ่มสร้างน้ำดี ฟันน้ำนมเริ่มโตใต้เหงือก ผม ขนคิ้ว ขนตายาวขึ้นเด็กจะมีการตื่นและนอนเป็นเวลา คุณแม่สามารถรู้ได้ว่าเด็กมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เด็กดูดนิ้วมือเป็น เด็กระยะนี้จะยาว 10-12 นิ้วหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 5

         การตั้งครรภ์เดือนที่ 5 นั้นเมื่อคุณแม่ไปพบแพทย์จะตรวจเหมือนกับเดือนที่ 4 อย่าลืมจดปัญหาเพื่อไปปรึกษากับแพทย์ อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกับเดือนที่ 4 แต่จะมีอาการมากขึ้น เช่นการเคลื่อนไหวของเด็กเพิ่มขึ้น ตกขาวเพิ่มขึ้น ปวดท้องน้อยเนื่องจากเอ็นที่ท้องตึงขึ้น ท้องผูก ปวดศรีษะ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ขาเป็นตะคริว เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร ปวดหลัง ผิวจะมีสีคล้ำขึ้น

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 6

         ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผิวทารกจะแดงและปกคลุมด้วยขนอ่อน และไขมันผมและเล็บเท้าจะเริ่มงอก สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทเริ่มทำงาน ในเด็กหญิงจะเริ่มสร้างไข่ในรังไข่ระยะนี้เด็กจะดูเหมือนคนตัวเล็ก แต่ปอดยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ดังนั้นเด็กจำเป็นต้องอยู่ในมดลูก เด็กในระยะนี้จะมีความยาว 1-14 นิ้ว

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 6

         เมื่อไปตรวจตามนัดแพทย์จะตรวจเช่นเดียวกับเดือนที่ 4 อาการต่างๆที่เกิดจะเหมือนกับเดือนที่ 5 แต่จะเคลื่อนไหวมากขึ้นแข็งแรงมากขึ้น

 

โภชนาการในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

          เน้นอาหารที่ให้พลังงานสูงและลดอาการท้องผูกของคุณแม่ ในช่วงไตรมาสนี้คุณแม่จะมีท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้ไปเบียดลำไส้ จึงทำให้มีอาการท้องผูกได้ อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ยังต้องเน้นทานอยู่ ก็คืออาหารที่ต้องทานในไตรมาสแรก แต่ในช่วงเดือนนี้ก็ควรเน้นพวกผักแลผลไม้เพิ่ม และควรแบ่งอาหารให้เป็นมื้อเล็กๆเพื่อลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารที่ควรเน้นเพิ่มเติมเข้ามาคือ

         1. ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต มันเทศ ฟักทอง ข้าวโพด
         2. อาหารที่มีเส้นใยมากได้แก่ พวกผักและผลไม้ เช่นลูกพรุน แก้วมังกร ส้ม ผักกะเฉด คะน้า ผักหวาน ใบยอ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ที่มีรสหวานจัด
         3. ดื่มน้ำเปล่าให้มากกว่าปกติ เพราะน้ำจะทำให้ระบบย่อยอาหารดี

 

การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 7

         เป็นช่วงที่คุณแม่เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ท้องโตมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ดีถึงการเคลื่อนไหวของทารก ท้องที่โตมากขึ้นทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้นๆ คุณแม่จะรู้สึกถึงความอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นอนหลับไม่ได้เต็มที่จากการที่ทารกในครรภ์จะตื่น และจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที ในระยะนี้คุณแม่ควรจะได้เข้าอบรมเรียนรู้ขั้นตอนการเตรียมคลอด เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเข้าสู่กระบวนการคลอด ในช่วงระยะนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม ทารกในครรภ์ขณะนี้จะมีน้ำหนัก  1 กิโลกรัมโดยประมาณ ทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาในรูปแบบต่างๆ เช่นการจาม ดูดมือ ดูดนิ้วเท้า

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 7

         คุณแม่มักจะมีอาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมาก และท้องผูกยังคงเป็นอาการที่รบกวนคุณแม่อยู่ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกครั้งในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นี้ อาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้นผิวหนังของคุณแม่จะแพ้ง่ายมากในช่วงนี้ อาจมีผื่นขึ้น หรือเป็นสิว ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย รก และทารก ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่มักจะสูงกว่าปกติประมาณ 10-15ครั้งต่อนาที คุณแม่บางท่านอาจถูกตรวจพบว่ามีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจ แต่จะหายไปเมื่อคลอดแล้ว เต้านมของคุณแม่ยังขยายต่อไปอีก รวมถึงต่อมผลิตน้ำนมก็มีความพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงทารก ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่อาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ข้อควรระวังก็คือระวังการกระตุ้นที่บริเวณนมเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนอาการปวดหลัง ของคุณแม่จะเป็นมากขึ้นและบางทีส่งผ่านลงไปที่ขาทั้งสองข้าง ครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์จะมีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินสู่ไตรมาสที่สาม อาการเจ็บที่หลังจะส่งผ่านลงไปที่ขา อาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกสันหลังส่วนล่างนูนออก จากการที่ถูกมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นดัน ทำให้เส้นประสาทเกิดการ บาดเจ็บ หรือถูกกด หรือบางทีการที่คุณแม่ก้มยกของโดยท่าทางไม่ถูกต้อง หรือบิดตัวเร็วเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง และบางครั้งอาการปวดหลังก็หายไปเมื่อทารกเปลี่ยนท่า หากคุณแม่นอนเอนหลังลงไปแล้วทำให้ไม่สุขสบาย นั่นเกิดจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ลงไปกดอวัยวะต่างๆตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เลือดที่ไปหัวใจมีปริมาณน้อยลง ลองนอนตะแคงจะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น คุณแม่จะเริ่มลุกจากเตียงลำบากขึ้นให้นอนตะแคงก่อนแล้วใช้มือช่วยดันขึ้นมา หากคุณแม่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืนนานๆ อาจใช้ถุงเท้าที่ช่วยพยุงขา เนื่องจากอาการของเส้นเลือดขอดอาจเป็นมากขึ้น

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 8

         เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 ทารกยังคงเจริญเติบโต อย่างรวดเร็วกระดูกแข็งแรงขึ้น ผิวจะเจริญเหมือนคนปกติ สมองพัฒนาเต็มที่ เส้นประสาททำงานได้เต็มที่ ตุ่มรับรสเริ่มทำงาน เด็กจะรับแสง เสียง และความเจ็บปวด ถ้าเป็นเด็กชายอัณฑะจะเคลื่อนจากช่องท้องลงถุงอัณฑะ เด็กช่วงนี้จะยาว 16-18 นิ้วหนักประมาณ 2 กิโลกรัม

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 8

         การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8 แพทย์จะนัดทุกสองสัปดาห์และจะตรวจร่างกายเหมือนเดือนที่ 5 อาการของคุณแม่จะเหมือนเดือนที่ 5 แต่จะหายใจตื้นมดลูกจะบีบตัวมากขึ้น คุณควรปรึกษาแพทย์เรื่องวิธีการคลอดรวมทั้งวิธีการระงับการเจ็บปวด

         การเจริญและการพัฒนาของทารกในครรภ์เดือนที่ 9

         การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 สมองทารกจะเจริญเติบโตเร็วมากค่ะ ตัวเด็กจะเจริญอย่างรวดเร็วพร้อมที่จะคลอด ทารกมีการกลับลงพร้อมคลอด ภูมิคุ้มกันจากแม่จะเข้าสู่ลูก เด็กจะเคลื่อนไหวมากขึ้น ปอดแข็งแรงมาก เด็กจะยาวประมาณ 20 นิ้ว หนัก 2.5-4 กิโลกรัมช่วงอายุครรภ์ 37-42 สัปดาห์เด็กสามารถคลอดได้ตลอดเวลา ระยะนี้คุณแม่ จะรู้สึกอึดอัดเพราะเด็กตัวโต และดันกระเพาะและกำบังลมทำให้แน่นท้องหายใจตื้นและเร็วอาจมีอาการจุกเสียดหน้าอก และท้องผูก

         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดกับคุณแม่เดือนที่ 9

         การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 ระยะนี้แพทย์จะนัดตรวจทุกสัปดาห์วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะ ตรวจภายในวัดขนาดของมดลูก ความสูงของมดลูก และตรวจว่าปากมดลูกเปิดหรือยัง แพทย์จะถามเรื่องความถี่และความแรงของอาการมดลูกบีบตัว

 

โภชนาการในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ 


         เน้นอาหารที่บำรุงสมองลูกเป็นพิเศษ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้อาหารที่จำเป็นมากคือ อาหารที่ให้พลังงานสูง จำเป็นต้องกินให้ได้วันละประมาณ 300 กิโลแคลอรี คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้ควรดูแลน้ำหนักไม่ให้ขึ้นสูงมาก ควรงดพวกเครื่องดื่มที่ให้รสหวานหรือมีน้ำตาลสูง ควรเน้นอาหารบำรุงสมอง เพราะเซลล์ประสาททางด้านสมองของลูกจะพัฒนาสูงสุดในช่วงเดือนนี้

        1. เน้นอาหารที่มี โอเมก้า 3และ 6 สารอาหารเหล่านี้จะบำรุงสมองและประสาทของตาของลูก ถ้าคุณแม่กินอาหารที่เป็นไขมันดี จะได้รับสาร DHA และ ARA ทำให้พัฒนาการเรียนรู้ของลูกดีมาก สารอาหารพวกนี้ได้มากจาก เนื้อปลา อะโวคาโด น้ำมันรำข้าว เมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะกอก
        2. ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว ทำให้เซลล์สมองของลูกทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
        3. เน้น เลซิตินซึ่งเป็นสารประกอบหลักของโคลีน ช่วยในเรื่องพัฒนาสมองและระบบประสาท ช่วยเพิ่มเรื่องความจำให้ทารกในครรภ์ สารนี้ได้มาจาก ตับสัตว์ นมวัว ไข่แดง ถั่วเหลือง ดอกกะหล่ำ ผักกาดหอม ธัญพืชต่างๆ
        4. สังกะสีช่วยสังเคราะห์โปรตีน ทำให้ระบบประสาททำงานได้ดี ช่วยให้สมองผ่อนคลาย แหล่งที่มีของสารตัวนี้คือ หอยนางรม เนื้อวัว ชีส จมูกข้าวสาลี กุ้ง ปู

        ทั้งนี้อาการเจ็บครรภ์จริงที่ควรรีบมาพบแพทย์ มักจะมีอาการปวดท้องสม่ำเสมอ วิธีการตรวจคือเมื่อเริ่มปวดท้องให้คุณแม่นับหรือจับเวลาตั้งแต่เริ่มปวดท้องจนปวดท้องครั้งต่อไป จะพบว่าอาการปวดจะมาอย่างสม่ำเสมอ คือใน 1 ชั่วโมงจะปวดมากกว่า 5 ครั้ง แต่ละครั้งปวดนาน 30-70 วินาที และหากคุณแม่มีการเคลื่อนไหวมากจะปวดมากขึ้น สิ่งที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงการตั้งครรภ์ 9 เดือน คือมีเลือดหรือน้ำออกจากช่องคลอดหรือไม่ มดลูกหดเกร็งตลอดเวลา ปวดหลังตลอดเวลาไม่หาย และรู้สึกว่าเด็กไหลลงช่องคลอด

         ส่วนในเรื่องของโภชนาการนั้นอาหารแต่ละไตรมาสสำคัญกับคุณแม่มากนะคะ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรคำนึงถึงช่วงอายุและอาหารแต่ละอย่างด้วยว่าสิ่งไหนจำเป็นต้องเน้นทานช่วงไตรมาสไหน ถ้าทานได้ถูกหลักรับรองลูกที่คลอดออกมาร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแน่นอนค่ะ