; การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

       

       ในผู้สูงอายุ โดยปกติระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอย ฟันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องปากก็เช่นกัน เมื่ออยู่ในวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

        ฟัน  ผิวเคลือบฟันจะมีความแข็งแกร่งลดลง หรือเปราะมากขึ้น ฟันอาจแตกบิ่นได้ง่ายเมื่อถูกกระแทกแรง ๆ สีของฟันจะเข้มขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้การสะท้อนแสงและความแวววาวลดลง

        เหงือก เหงือกจะร่น จากการสูญเสียการยึดเกาะของเยื่อปริทันต์ หรือเป็นโรคปริทันต์ ทำให้ฟันดูยาวขึ้น การแปรงฟันแบบผิดวิธีแบบถูไปมา หรือใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็งเกินไปหรือขนแปรงเก่าจนแตก จะทำให้เหงือกร่นได้มากขึ้น

        เอ็นยึดปริทันต์ เอ็นยึดปริทันต์เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่ช่วยยึดรากฟันไว้กับกระดูกเบ้าฟัน จะมีจำนวนน้อยลงและหย่อนประสิทธิภาพ ถ้าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ จะถูกทำลายได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ฟันโยกได้ง่ายและเร็วขึ้น

        กระดูกเบ้าฟัน กระดูกเบ้าฟันจะเปราะบางจากการสูญเสียแคลเซียม อาจแตกหักได้ง่าย ถ้าถูกกระแทกแรง ๆ ต่อมน้ำลาย  เซลล์ของต่อมน้ำลายที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำลายมีจำนวนน้อยลง ทำให้มักมีอาการปากแห้ง


ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่สำคัญ และพบได้บ่อย ได้แก่

        1. ฟันผุและรากฟันผุ โรคฟันผุ มีปัจจัยเสี่ยงคือ การมีช่องปากแห้ง การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน การมีอนามัยช่องปากไม่ดีเพราะความเจ็บป่วยของโรคทางร่างกาย เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ ภาวะเครียด ซึมเศร้า มักมีการผุที่รากฟันร่วมด้วยเพราะเหงือกร่น รากฟันโผล่

        2. โรคปริทันต์  โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง ลุกลามเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มีผลไปถึงเอ็นยึดฟันและกระดูกเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยก ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น คือโรคทางระบบต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ยาที่ใช้รักษาโรค การสูบบุหรี่

        3. ฟันสึก ฟันสึกจากด้านบดเคี้ยวมักพบในฟันกราม จากการขบเคี้ยวอาหารแข็ง หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อย ๆ หรือใช้เฉพาะบริเวณนั้นเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่อง และฟันสึกบริเวณด้านข้างแก้มตรงคอฟัน จากการแปรงฟันด้วยแปรงขนแข็งและแปรงผิดวิธีแบบถูไปมา อาจทำให้มีอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมาก ๆ ก็อาจลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตาย ตัวฟันหักได้

        4. น้ำลายแห้ง  จากการหลั่งน้ำลายลดลง และอาจเกิดจากการรับประทานยารักษาโรคทางระบบหลายชนิดเป็นเวลานาน ภาวะปากแห้งทำให้เคี้ยว กลืน พูดลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ อาจพบการติดเชื้อรา และมีอาการปวดแสบปวดร้อนในปาก

        5. การสูญเสียฟันและปัญหาจากการใส่ฟันปลอม  อาจมีการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ต้องได้รับการใส่ฟันปลอม  และอาจมีปัญหาในการใส่ฟันปลอม เช่น อาการปากแห้งเพราะน้ำลายน้อยทำให้มีผลต่อการยึดติดของฟันปลอมแบบถอดได้

        6. แผล/มะเร็งช่องปาก 
           - แผลในช่องปาก ได้แก่ แผลร้อนใน แผลบาดเจ็บจากฟันปลอม แผลอักเสบมุมปาก ซึ่งเกิดจากการสูญเสียฟันหลังหลาย ๆ ซี่ หรือฟันสึกมาก ๆ หรือการใส่ฟันปลอมที่มีความสูงไม่ถูกต้อง ทำให้มุมปากย่นทบกัน ระคายเคืองและถ้าเปียกชื้นจากน้ำลายตลอดเวลาจะเกิดการอักเสบติดเชื้อ รวมถึงอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร การได้รับยาปฏิชีวนะนาน ๆ
           - มะเร็งช่องปาก เกิดจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นาน ๆ อาจเกิดจากฟันแหลมคม ฟันปลอมที่ทำให้ระคายเคือง การกินหมากพลู อมยาฉุน สูบบุหรี่และดื่มเหล้า

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

        1. การทำความสะอาด

           1.1 ฟันและช่องปาก

            - การเลือกใช้แปรงสีฟัน  ควรเลือกใช้แปรงที่มีด้ามจับได้ถนัดมือ ยาวพอเหมาะ ส่วนตัวแปรงไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดช่องปาก มีขนแปรงที่นิ่ม ปลายมน และควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เมื่อขนแปรงบาน หรือมีอายุการใช้งาน 2 - 3 เดือน

            กรณีผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อมือ หรือไม่สามารถควบคุมการใช้มือในการแปรงฟันแบบธรรมดาได้ดี อาจแก้ไขได้โดย เลือกใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าเพื่อผ่อนแรง หรือปรับปรุงขนาดของด้ามแปรงสีฟันทั่วไป ให้จับได้เหมาะมือ เช่น ปรับปรุงส่วนของด้ามแปรง ให้เหมาะกับการกำ เช่น ใช้ยางที่เป็นมือจับของจักรยานสวมทับด้ามแปรงสีฟัน ยึดด้วยกาวหรือดินน้ำมัน หรืออาจเพิ่มสายรัดยึดแปรงไว้กับมือ โดยใช้วัสดุน้ำหนักเบา ไม่ดูดซับน้ำ เช่น หลอดพลาสติก หรือสายน้ำเกลือ ผูกติดกับด้ามแปรง โดยปลายหนึ่งผูกไว้ทางด้านขนแปรง และอีกปลายผูกที่ปลายด้ามแปรง


            - วิธีแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ยาสีฟันชนิดครีมที่ผสมฟลูออไรด์ นานประมาณ 2 นาที โดยแปรงให้ทั่วถึง ทุกซี่ ทุกด้าน โดยเฉพาะคอฟันและซอกฟัน หลังแปรงฟันแล้ว อาจจะแปรงทำความสะอาดลิ้นเบา ๆ และเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น ไม้จิ้มฟัน ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แปรงกระจุกเดียว

           1.2 ฟันปลอม

           - ฟันปลอมชนิดถอดได้  หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ควรถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาด โดยใช้แปรงสีฟันขนอ่อนกับน้ำสบู่ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้ผงขัด ขณะล้างควรมีภาชนะรองรับ เพื่อกันฟันปลอมตกแตก ถ้ามีคราบฝังแน่นติดฟันปลอมสามารถแช่ในน้ำยาแช่ฟันปลอม หรือน้ำผสมเม็ดฟู่สำหรับฟันปลอมช่วยขจัดคราบและฆ่าเชื้อโรคได้และที่สำคัญก่อนนอนต้องถอดฟันปลอม เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน และเอาฟันปลอมแช่น้ำไว้เสมอ ไม่ให้ฟันปลอมแตกแห้ง

           - ฟันปลอมชนิดติดแน่น ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าทำความสะอาดใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกด้วย

        2. การเลือกรับประทานอาหาร

           - ควรเลือกอาหารพวกโปรตีนย่อยง่าย ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง รสไม่หวานจัด
           - ควรลดอาหารที่หวานจัด นิ่มละเอียดมาก ๆ หรือเหนียวติดฟัน เพราะจะเกิดการตกค้างได้มาก ทำความสะอาดยาก เกิดฟันผุง่าย
           - ควรลดอาหารเปรี้ยวจัด หรือน้ำอัดลม เพราะมีกรดทำให้ฟันสึกกร่อน
           - ควรรับประทานอาหารให้เป็นมื้อ ไม่ควรกินจุบจิบ โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพื่อลดการตกค้างของเศษอาหาร
           - สำหรับผู้ใส่ฟันปลอม ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทาน โดยเฉพาะอาหารเหนียวและแข็ง

        3. การเสริมสร้างความแข็งแรงของช่องปาก

           3.1 การเสริมสร้างความแข็งแรงของตัวฟัน

           ควรใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ เพื่อป้องกันฟันผุ มีแบบใช้ได้เองทั่วไปคือ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ และแบบที่ทันตแพทย์เป็นผู้ให้บริการ คือ ฟลูออไรด์เข้มข้นแบบเจล วานิช ทาเคลือบที่ฟัน

           3.2 การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น

           - การบริหารใบหน้า จะช่วยปลุกเส้นประสาท กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น แก้ม ปาก และลิ้น ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น  แนะนำให้ทำหลังล้างหน้าตอนเช้า มี 3 ขั้นตอน แต่ละขั้นใช้เวลาประมาณ 10 วินาที แล้วผ่อนคลาย จากนั้นให้ปฏิบัติซ้ำตั้งแต่ต้นอีก 3 รอบ ดังนี้



           - การบริหารลิ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลิ้นดีขึ้น คลุกเคล้าอาหารได้ดี ช่วยให้ออกเสียงพูดได้ชัดเจนขึ้น และช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร มีวิธีบริหาร แบบ คือ การบริหารโดยการเปิดปาก และการบริหารโดยการปิดปาก มีขั้นตอนดังนี้


        4. การกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย

           การนวดต่อมน้ำลาย จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากขึ้น แนะนำให้ทำก่อนรับประทานอาหาร การนวดต่อมน้ำลายมี 3 ต่อม ได้แก่ ต่อมใต้หู ต่อมใต้คาง ต่อมใต้ลิ้น หลังจากตรวจสอบตำแหน่งที่จะนวดแล้ว ให้ปฏิบัติตามขั้นตอน 1 - 3 แล้วทำซ้ำอีก 2 - 3 ครั้ง





           แม้ในวัยสูงอายุ ก็ยังคงสามารถรักษาสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และคงสภาพการใช้งานให้นานที่สุดได้  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอ  มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ ครั้งแล้ว คือ การเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง:

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เรื่องน่ารู้สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย. [ออนไลน์]. 
เข้าถึงได้จาก : http:// dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/PR/E-book/elderly/keld.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).

ทญ. วรางคณา เวชวิธี. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง สำหรับผู้สูงอายุ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://happysmile.anamai.moph.go.th/dentalh/elderly.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).

ทพ. จรัลพัฒน์ เขจรบุตร. For ฟันสวย.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547.