; การดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด



การป้องกันการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บ

มารดาหลังคลอดที่ได้รับการทำคลอดด้วยวิธีการคลอดธรรมชาติ ส่วนมากจะได้รับการตัดฝีเย็บในขณะที่ศีรษะทารกกำลังคลอด พ้นปากช่องคลอดออกมา โดยใช้กรรไกรตัด เพื่อให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทารกผ่านออกมาได้

เมื่อสิ้นสุดการคลอดแล้วแพทย์จะทำการเย็บปิดแผลให้สนิท ดังนั้นการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บหรือบริเวณที่มีการฉีกขาดของฝีเย็บ ช่องคลอดหรืออวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก จึงเป็นบริเวณเฉพาะที่พบบ่อยสุด ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดแผลฝีเย็บที่ถูกวิธีก็อาจจะเกิดการติดเชื้อได้


กระบวนการหายของแผลฝีเย็บ

1 – 3  วันแรก  แผลฝีเย็บอาจมีอาการเจ็บ บวม มีเลือดซึมออกบริเวณแผล
โดยปกติแล้วแผลฝีเย็บจะหายสนิทภายใน 7 วัน หลังคลอดหรือนานกว่านั้นถ้ามีอาการอักเสบติดเชื้อ

 

อาการแสดงผิดปกติของการติดเชื้อแผลฝีเย็บ

พบว่าจะมีไข้หลังวันที่ 2 ของการคลอด เจ็บแผลฝีเย็บมาก แผลมีการอักเสบ บวมแดง บางครั้งเป็นหนองและแผลจะแยกออกจากกัน อาจมีปัสสาวะลำบากและปัสสาวะไม่ออกได้

 

การดูแลแผลฝีเย็บ

  • ติดตามประเมินแผลฝีเย็บทุกวัน โดยนอนตะแคงดึงแก้มก้นขึ้นไป ตรวจดูอาการบวมแดง จำนวนน้ำคาวปลาซึมจากแผลและประเมินความเจ็บปวด
  • ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ ควรทำทำความสะอาดทุกครั้งเมื่ออาบน้ำและภายหลังการขับถ่ายด้วยน้ำที่สะอาดแล้วซับให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ การทำความสะอาดต้องล้างหรือเช็ดจากบริเวณหัวหน่าลงไปทวารหนักห้ามเช็ดย้อนมาด้านหน้าหรือเช็ดย้อนไปมา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากทวารหนักเข้าแผลฝีเย็บเพราะจะทำให้แผลติดเชื้อได้
  • ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเมื่อเปียกชุ่มหรือทุก 2 -3 ชั่วโมง และไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณช่องคลอด ทำให้แผลหายช้า
  • แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์และงดสวนล้างช่องคลอด
  • แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อหมู เนื้อวัว เพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและส่งเสริมการหายของแผล
  • ขมิบช่องคลอดทุกวัน เพื่อทำให้ช่องคลอดกระชับและกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณแผลฝีเย็บได้มากขึ้นและแผลหายเร็วขึ้น
  • ระวังอย่าให้ให้ท้องผูก เนื่องจากการเบ่งจะทำให้แผลฝีเย็บระบมมากขึ้นหรือเกิดการแยกของแผลได้
  • ควรมาตรวจตามที่แพทย์นัดและหากมีอาการผิดปกติ เช่น แผลแยก ปวดแผลมาก น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีปริมาณมาก มีไข้ สามารถมาพบแพทย์ก่อนกำหนดการนัดได้