; การดูแลและรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การดูแลและรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

การดูแลและรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมแพทย์หัวใจแห่งประเทศไทย
ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล

หน้าที่ของหัวใจ
        หัวใจทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำคอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หัวใจจะทำงานได้ดีต้องมีองค์ประกอบที่ปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ลิ้นหัวใจเปิดปิดดี จังหวะการเต้นต้องเหมาะสม รูปร่างโดยรวมของหัวใจปกติ หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดปกติไป จะทำให้หัวใจทำงานได้น้อยลง และหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้



ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ อะไร
        ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ Heart failure คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆของร่างกายได้เพียงพอ ทำให้ร่างกายได้รับเลือดและสารอาหารต่าง ๆ ไม่เพียงพอ  เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแรง เหนื่อยง่าย และเกิดการคั่งของน้ำในร่างกายมากผิดปกติ

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
- หายใจไม่สะดวก นอนราบไม่ได้
- เหนื่อยเฉียบพลันขณะหลับ
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- บวมแบบกดบุ๋ม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นข้ามวัน

สาเหตุที่พบบ่อยของภาวะหัวใจล้มเหลว
- ความดันโลหิตสูง
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การได้รับยาและสารพิษต่อหัวใจ

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

  • ถ้าไม่รักษาจะมีอาการกำเริบมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
  • ผู้ป่วยต้องคอยดูแลตนเอง รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบ
  • หากมีอาการกำเริบต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อรักษาสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นและปรับยาให้เหมาะสม

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
- การรักษาด้วยยา
- การสวนหัวใจ / การจี้หัวใจ
- การฝังเครื่องช่วยกระตุ้นไฟฟ้า
- การผ่าตัด

ความสำคัญในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

  • เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ลดอาการแทรกซ้อนที่มาจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ชะลอความรุนแรงของโรค
  • ลดปัจจัยที่อาจทำให้เสียชีวิต เช่น หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และลดอัตราการเสียชีวิต

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยยา

  • เพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ชะลอการเสื่อมของหัวใจ
  • ลดอาการรุนแรงและป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้น
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้น

การใช้ยาขับปัสสาวะ

  • ยาขับปัสสาวะเป็นยาหลักที่แพทย์ใช้ในการบรรเทาอาการ โดยเฉพาะเวลากำเริบและมีน้ำคั่งอยู่ในร่างกายมาก จึงสามารถลดอาการบวม อาการหอบเหนื่อย และอาการนอนราบไม่ได้
  • การใช้ยาขับปัสสาวะจะมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาและวิธีกินตามอาการในแต่ละช่วง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากยา
- อาการแพ้ยา ปากบวม ตาบวม หน้าบวม  
- มีค่าระดับการทำงานของไตที่สูงขึ้น   
- ภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการวูบเวลาเปลี่ยนท่าทาง  
- ในเพศชายอาจมีอาการคัดตึงเต้านมหรือเต้านมโต  
- มีค่าระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น  

ผลข้างเคียงดังกล่าว ไม่ใช่ สาเหตุที่ต้องปฏิเสธการกินยา แต่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือแก้ได้โดยให้พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

การรับประทานยาที่ถูกต้อง

  • สังเกตและทบทวนวิธีการกินยาแต่ละชนิดกับฉลากยา โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดยา
  • ยาจะได้ผลรักษาดี ก็ต่อเมื่อกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
  • การขาดยาอาจทำให้อาการหัวใจล้มเหลวกำเริบ ถึงขนาดเข้าโรงพยาบาล ดังนั้นควรตรวจสอบปริมาณยากับวันนัดแพทย์ ระวังอย่าให้ยาหมดก่อนมาพบแพทย์ หากมีเหตุจำเป็นควรโทรมาเลื่อนนัดให้เหมาะสม

การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม

  • ไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
  • ไม่ควรรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เบเกอรี่ที่ใส่ผงฟู ผงชูรส เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
  • ควรรับประทานอาหารที่ปรุงเองหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสจัด เนื่องจากมักมีโซเดียมปริมาณมาก
  • ควรเลือกรับประทานข้าวกล้อง หรือข้าวขาวเป็นหลัก
  • ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่สด ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอ ลูกชิ้น แหนม หมูหยอง ไส้กรอก แฮม เป็นต้น
  • ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้สด



ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสและเครื่องจิ้ม

  • เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มก.
  • ซุปก้อนปรุงรส 1 ก้อนเล็ก มีโซเดียม 1,578 มก.
  • น้ำปลาและซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,350 มก.
  • ระวังการใช้เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ น้ำจิ้มสุกี้ กะปิ ปลาร้า ผงฟู ในการปรุงอาหาร

ควรกลับมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้

  • หายใจหอบเหนื่อยรุนแรง หรือหายใจไม่ออก
  • อาการเหนื่อยเป็นมากขึ้นมาก ๆ จนนั่งเฉย ๆ ก็ยังเหนื่อย
  • หน้ามืด ใจสั่น จะเป็นลม
  • ปัสสาวะน้อยลงมาก ๆ หรือไม่ออกเลย
  • นอนราบไม่ได้

คำแนะนำทั่วไป

  • ชั่งน้ำหนักตนเองทุกวัน และจดค่าน้ำหนักไว้
  • พยายามทำกิจวัตรประจำวัน หรือออกกำลังกายตามปกติเท่าที่ทำได้ เพื่อรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกายไว้ ในระดับที่เหมาะสมกับอาการของท่าน
  • โดยทั่วไปให้จำกัดปริมาณน้ำต่อวันประมาณ 2 ลิตร หรือตามแพทย์กำหนด

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  • ยาหลายชนิดทำให้อาการหัวใจล้มเหลวกำเริบได้ โดยเฉพาะยาชุด ยาแก้ปวด ยาลูกกลอน และยาสมุนไพรที่อาจปนเปื้อน สเตียรอยด์ ไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มากินเอง
  • ควรงดเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และควรเลิกสูบบุหรี่เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง หรือกำเริบได้

ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

  • ภาวะหัวใจล้มเหลวรักษาได้ ด้วยการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  • วันที่มาตรวจให้นำยาที่ใช้อยู่ และสมุดบันทึกน้ำหนักตัวมาด้วยทุกครั้ง
  • ไม่ควรขาดยา หรือขาดการติดตามรักษา โทรมาเลื่อนนัดหากจำเป็น แต่ระวังไม่ให้ขาดยา