; การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม



        มะเร็งเต้านม สามารถรักษาได้หากตรวจเจอในระยะแรก และควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หากพบสิ่งผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที “ไม่ควรรอให้รู้สึกเจ็บ”

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง
2. ตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์
3. ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก ใช้ได้ดีในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเนื้อเต้านมจะไม่หนาแน่นมาก ทำให้เห็นรายละเอียดได้มาก
4. การตรวจอัลตร้าซาวนด์ สามารถใช้ในผู้ที่อายุน้อย ช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น

1. วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง



        1.1 ท่าทางการตรวจ

        - ท่านอนราบ : นอนราบในท่าสบาย ใช้ผ้าขนหนูม้วนหรือใช้หมอนรองที่บริเวณหลังและไหล่ข้างที่จะตรวจ ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำให้ทั่วบริเวณเต้านมและรักแร้
        - ท่ายืนหน้ากระจก : ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้าง ยกแขนขึ้น 2 ข้างประสานกันเหนือศีรษะ สังเกตรอยดึงรั้ง หรือรอยบุ๋ม มือท้าวเอวแล้วโน้มตัวไปข้างหน้า

        1.2 ทิศทางการคลำ

        - คลำแบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา : คลำจากบริเวณหัวนม วนออกตามเข็มนาฬิกา ไปจนถึงบริเวณรักแร้
        - คลำแบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว : คลำโดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงไปมาทีละแถวให้ทั่วทั้งเต้านม
        - คลำแบบรัศมีรอบเต้านมหรือคลำแนวคลื่น : เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมเข้าหาฐานหัวนม และทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม

        1.3 ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ 7 วันก่อนและหลังมีประจำเดือน

        - อาการผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือมีเลือดไหลออกมา คลำได้ก้อนเป็นไตแข็งผิดปกติ

2. การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram)

        เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายกับการตรวจเอ็กซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าการเอ็กซเรย์ทั่วไป 30 – 60 % มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก
        จุดเด่นของการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม

         - สามารถตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ รวมถึงหินปูนตั้งแต่ขนาด 0.1 – 1 เซนติเมตร ที่คลำหรืออัลตราซาวนด์แล้วไม่พบได้อย่างละเอียดชัดเจน ทำให้สามารถค้นพบมะเร็งระยะเริ่มแรกได้อย่างรวดเร็ว
        - เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจดูกลมกลืนกับเนื้อร้าย ทำให้ยิ่งค้นพบได้รวดเร็ว อีกทั้งยังปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อเต้านม
        - สามารถปรับความคมชัดของฟิล์มได้โดยที่ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ ทำให้สามารถลดอัตราการกลับมาทำและรับรังสีซ้ำ
        - กรณีที่มีการเสริมหน้าอกมา ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกครั้งเพื่อการตรวจที่เหมาะสม

3. การอัลตราซาวนด์เต้านม (Breast Ultrasound)

        เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงในการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดแผนการรักษาให้ง่ายขึ้น
จุดเด่นของการตรวจเต้านมด้วยการอัลตราซาวนด์

        - สามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้นมีองค์ประกอบเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ
        - หากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อ สามารถบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
        - เหมาะสำหรับคนอายุน้อย
        - กรณีที่มีการเสริมหน้าอกมา หากแผลหายแล้วก็สามารถทำการอัลตราซาวนด์ได้ตามปกติ

        ข้อจำกัดของการตรวจเต้านมด้วยการอัลตราซาวนด์

        - ประสิทธิภาพในการตรวจหาหินปูนด้วยวิธีการอัลตราซาวนด์จะไม่ดีเท่ากับการตรวจแมมโมแกรม


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- https://e-library.siam.edu/world-breast-cancer-day/
- กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/advertorials/politics/2544
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์