; การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง



        "ตับ" มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งการสร้าง การทำลาย และเผาผลาญสารต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งอาหาร ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีตับแข็ง ตับจะสูญเสียหรือมีความบกพร่องในการทำงาน จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยและญาติจะต้องช่วยดูแลในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยให้เหมาะสม

อาหาร

        - ผู้ป่วยตับแข็งในระยะที่ตับยังสามารถทำงานได้ดี ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ ตามหลักโภชนาการ และควรรับประทานอาหารพวกโปรตีนประมาณวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งจะประมาณ 60 กรัมต่อวัน

        - ผู้ป่วยตับแข็งในระยะที่การทำงานของตับไม่ปกติแล้ว ซึ่งจะสังเกตจากอาการแสดง คือ ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) มีท้องโตขึ้นจากมีน้ำอยู่ในช่องท้อง (ท้องมาน) ขาบวม มีอาการผิดปกติทางสมองคือซึมลง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้วด้วย  ดังนั้น อาหารที่ต้องกินแต่ละวัน ควรมีจำนวนแคลอรี่ต่อวันมากขึ้นและต้องการสารอาหารโปรตีนเป็นวันละ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม คือ ประมาณวันละ 80-90 กรัม ต่อวัน  แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทานอาหารโปรตีนไม่ได้เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการทางสมอง (Hepatic encephalopathy) จึงแนะนำให้กินมากเท่าที่ทนได้ และให้กินโปรตีนจากพืช จะเกิดอาการทางสมองน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์คือพวกถั่วเหลืองเสริม

        - ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งมากแล้ว มักจะไม่สามารถรับประทานโปรตีนได้เท่าที่ควรจะได้รับ  ในกรณีนี้สามารถให้อาหารเสริม ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดกึ่ง (Branch chain amino acid) ผู้ป่วยสามารถกินโปรตีนชนิดกึ่งได้มากเพียงพอ จนทำให้ระดับโปรตีนในเลือดดีขึ้น โดยไม่เกิดอาการทางสมอง แต่โปรตีนชนิดนี้จะมีรสชาติที่ไม่อร่อย จึงมีความจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงเหตุผลและความสำคัญของอาหารชนิดนี้

อาหารที่ผู้ป่วยตับแข็งควรหลีกเลี่ยง

        - ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีมันมาก เพราะผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและดูดซึมไขมัน
        - กรณีผู้ป่วยมีท้องมานน้ำ ให้รับประทานอาหารจืด อย่าเติมเกลือหรือน้ำปลามากไป
        - ผู้ป่วยตับแข็งมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับมาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟาท็อกซิน ซึ่งสร้างจากรา ได้แก่ พวกถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น ปลาเค็ม
        - ควรงดรับประทานอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจนช็อกและเสียชีวิตได้

การแบ่งเวลารับประทานอาหาร

        ควรรับประทานอาหารวันละ 4 - 7 มื้อ เพราะผู้ป่วยตับแข็งงดอาหารช่วงกลางคืน 1 คืน จะเท่ากับคนปกติงดอาหารไป 3 วัน  นอกจากนี้ยังดีกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีน้ำในช่องท้องร่วมกับการเคลื่อนที่ของระบบทางเดินอาหารไม่ดี เวลารับประทานอาหารมาก จะมีอาการอืด แน่นท้อง  เพื่อง่ายในการปฏิบัติ ขอแนะนำตารางการรับประทานอาหาร ดังนี้
        เวลา  07.00 น.        อาหารเช้า
        เวลา  10.00 น.        อาหารว่าง
        เวลา  12.00 น.        อาหารเที่ยง
        เวลา  15.00 น.        อาหารว่าง
        เวลา  18.00 น.        อาหารเย็น
        เวลา  21.30 น.        อาหารก่อนนอน   

        อาหารว่าง
        อาจเป็นขนมที่ทำจากถั่วเหลืองหรือนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) ใส่ไข่ต้ม  โดยกินเฉพาะไข่ขาวหรือเต้าฮวย ในผู้ป่วยตับแข็งเป็นมากแล้วและได้สารอาหารโปรตีนได้เท่าที่ต้องการ อาจเสริม เช่น อาหารโปรตีนชนิดกึ่ง ให้ในช่วงอาหารว่างสัก 1 - 2 มื้อ และก่อนเข้านอนอีก 1 แก้ว

        วิตามิน
        ผู้ป่วยตับแข็งมักจะขาดวิตามินหลายชนิด จึงควรรับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วย แต่ไม่ควรรับประทานวิตามินที่ละลายในไขมันเอง เช่น วิตามิน เอ, อี  เพราะวิตามินชนิดนี้ ถ้ารับประทานมากไปจะมีการสะสมที่ตับและอาจมีผลเสียต่อตับเอง  นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ขาดธาตุเหล็กก็ไม่ควรรับประทานเหล็กเสริมเข้าไป เพราะเหล็กจะทำให้การสร้างพังผืดในตับมากขึ้น

        แอลกอฮอล์
        ผู้ป่วยตับแข็งแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะทำให้โรคตับแย่ลง นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแตกของเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในผู้ป่วยโรคตับแข็ง

การออกกำลังกาย

        - ในผู้ป่วยตับแข็งที่ตับยังสามารถทำงานได้ดี สามารถออกกำลังได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่หักโหมเกินไปและควรมีการพักผ่อนที่เพียงพอ
        - ในกรณีที่ตับทำงานไม่ปกติแล้ว ก็ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ หรือเดินเร็ว  ถ้ารู้สึกเพลียก็พัก ที่สำคัญควรต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุเพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีเกร็ดเลือดต่ำและมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เลือดออกง่าย หยุดยาก

ยาและสารเคมี

       
ผู้ป่วยตับแข็งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยาสมุนไพร เพราะยาหลายชนิดถูกทำลายที่ตับ และยาหลายชนิดเองก็อาจทำให้เกิดตับอักเสบ จึงควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยตับแข็งจะเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบมากกว่าคนปกติ จึงควรรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลไม่เกิน 5 เม็ดต่อวัน ในส่วนของยารักษาโรคตับที่แพทย์จัดให้ ควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันเส้นเลือดโป่งพองแตก ถ้ารับประทานไม่สม่ำเสมอ อาจมีผลเสียมากกว่า

วัคซีน

        ผู้ป่วยตับแข็งควรมีการตรวจเลือดดูว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัส เอ, ไวรัส บี หรือยัง  ถ้ายัง ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะถ้าติดเชื้อตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัส เอ และไวรัส บี ในผู้ป่วยตับแข็ง จะมีโอกาสเกิดตับวายและเสียชีวิตได้สูง 

เฝ้าระวัง

        ผู้ป่วยตับแข็งควรติดตามการดูแลรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด และควรมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ โดยการเจาะเลือดตรวจดูค่า AFP ซึ่งเป็น Marker ของมะเร็งตับชนิดหนึ่ง กับการตรวจอัลตราซาวด์ดูตับทุกประมาณ 6 เดือน  ในกรณีที่ผู้ป่วยตับแข็งต้องได้รับการตรวจหรือทำหัตถการต่าง ๆ เช่น ถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่ต้องการการเตรียมตัวผู้ป่วยเป็นพิเศษ

 

อ้างอิงจาก : บทความรู้ มูลนิธิตับแห่งประเทศไทย