; การปฏิบัติตัวเมื่อตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การปฏิบัติตัวเมื่อตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง



        ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มักจะทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบตัน ส่งผลให้อวัยวะที่สำคัญเสื่อมหน้าที่ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต และตา

อาการแสดง       

        ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการอะไร จะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจพบโดยบังเอิญ หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณท้ายทอย มักปวดตอนเช้า ตาพร่ามัว เวียนศีรษะมึนงง เลือดกำเดาไหล อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย

การปฏิบัติตัวเมื่อตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง

        1. ควบคุมน้ำหนัก -- ลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน



        2. อาหาร --
            - ลดหรืองดเกลือโซเดียม เช่น ผงปรุงรส ผงชูรส ผงฟู งดเติมน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส 
            - งดของหมักดอง ของตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
            - งดอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบคอน หมูยอ ขนมขบเคี้ยว
            - งดอาหารไขมันสูง
            - รับประทานผักสด ผลไม้ทุกมื้อ รับประทานถั่วและธัญพืชต่าง ๆ
        
            การรับประทานอาหาร
   
            ปรับรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ทุกมื้อ 

            สูตรอาหาร  (ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : โปรตีน 1 ส่วน)
            - แบ่งจานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว
            - ผักอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับ 2 ส่วน  
            - ข้าวหรืออาหารที่มาจากแป้ง สำหรับ 1 ส่วน  
            - โปรตีน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และเนื้อปลา สำหรับ 1 ส่วน  



        3. หยุดสูบบุหรี่และหยุดดื่มสุรา --

        4. ออกกำลังกาย
            ควรเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเหมาะสม ใช้ระยะเวลา 30 - 40 นาที เฉลี่ย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงดัน เช่น ยกน้ำหนัก เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูง  ในผู้ที่ตรวจพบความดันโลหิตสูงมากควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม

        5. ลดภาวะเครียด ฝึกผ่อนคลาย ทำจิตใจให้แจ่มใส



บทความโดย : สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย