; ทางเดินหายใจอักเสบจากเชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ทางเดินหายใจอักเสบจากเชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus)



สาเหตุ RSV ( Respiratory Syncytial Virus )

        RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกอายุ การติดเชื้อ RSV เกิดซ้ำได้ตลอดชีวิต เด็กติดเชื้อ RSV มากที่สุดในช่วงอายุ 6 สัปดาห์ถึง 8 เดือน เด็กทุกคนเคยติดเชื้อ RSV แล้วอย่างน้อย 1 ครั้งเมื่ออายุ 3 ปี

 

อัตราการเกิดโรค

        ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อ RSV จะมีน้ำมูกใส ไอ ในเด็กเล็กถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะพบหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ ( ปอดบวม ) ได้ 20 % -30 %

ระยะฟักตัว

        ตั้งแต่ได้รับเชื้อ RSV จนเกิดอาการประมาณ 2 – 8 วัน ( ส่วนใหญ่ 4 – 6 วัน )

อาการ

         อาการเริ่มแรกของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV คือ มีไข้ต่ำๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล จะมีอาการประมาณ 2 - 4 วัน จากนั้นการดำเนินโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างก็จะเริ่มมีมากขึ้น จะมีอาการไข้สูง ไอมากขึ้นร่วมกับมีเสมหะ ไอหอบ กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หายใจหอบเหนื่อย มักหายใจมีเสียงวิ๊ดๆ หน้าอกบุ๋ม เด็กที่มีอาการรุนแรงจะซึมลง ตัวเขียว กินอาหารได้น้อยลง

การติดต่อ

        เชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายทางตา จมูก และติดต่อจากคนสู่คน ดังนี้ ละอองฝอย โดยการไอหรือจาม ทำให้เชื้อ RSV ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยกระจายออกไปไกล 1 – 2 เมตร การสัมผัสโดยมือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยโดยตรงหรือผ่านของเล่น เครื่องใช้รอบตัวผู้ป่วยที่มีเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยติดอยู่ (เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง)

ระยะติดต่อ

        ผู้ป่วยแพร่เชื้อ RSV ได้นาน 3 – 8 วัน ส่วนเด็กเล็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นแพร่เชื้อได้นาน 3 – 4 สัปดาห์

การติดเชื้อซ้ำ

  • เด็กเมื่อติดเชื้อ RSV แล้ว ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะไม่ดีและอยู่ไม่นาน เด็กจึงติดเชื้อซ้ำได้แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง
  • การติดเชื้อ RSV เกิดซ้ำได้หลายครั้งด้วยเชื้อตัวเดิมและสามารถเกิดได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ หลังจากโรคหายแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดซ้ำ
  • เมื่อมีการระบาดของโรค การติดเชื้อซ้ำจะพบได้ 10 – 20 % ต่อการระบาดแต่ละปี ผู้ใหญ่มีการติดเชื้อ RSV ซ้ำได้ แต่พบน้อยกว่าเด็ก

อาการแทรกซ้อน

  • หูชั้นกลางอักเสบพบได้ 40% อาจเกิดจากเชื้อ RSV โดยตรงหรือจากเชื้อแบคทีเรียหรือทั้งสองอย่าง
  • ปอดอักเสบ (ปอดบวม) จากเชื้อแบคทีเรีย
  • เด็กขวบปีแรกที่เป็นหลอดลมอักเสบรุนแรงจากเชื้อ RSV ต่อมาจะมีโอกาสเกิดเป็นโรคหอบหืด 30% และถ้าเด็กเป็นโรคภูมิแพ้ มีผื่นแพ้หรือมีประวัติโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดในครอบครัว จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น

การรักษา

        ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส RSV โดยตรง มีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม บางรายอาจต้องให้ออกซิเจน ถ้ามีเสมหะมาก อาจต้องทำการเคาะปอดและดูดเสมหะออก

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV แล้วจะมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนได้สูง ได้แก่

  • เด็กเล็ก
  • เด็กเกิดก่อนกำหนด
  • เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคกล้ามเนื้อ โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

         มักจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไข้สูง อาเจียนมาก ดูดนมไม่ได้ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ซึม กระสับกระส่าย ท้องอืด

การป้องกัน

  • ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
  • อย่าให้เด็กเอามือที่ไม่สะอาดถูกตา จมูก เพราะเป็นทางเข้าของเชื้อ RSV
  • งดพาเด็กไปสถานที่มีผู้คนแออัด อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ให้เด็กเล็กอยู่กับบ้านไม่ส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็ก
  • หลังจากที่เด็กสัมผัสของเล่นและสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ควรล้างมือเด็กด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูให้ทั่วมือ จนแอลกอฮอล์เจลแห้ง ควรทำความสะอาดของเล่นและสิ่งของที่ใช้ร่วมกันให้สะอาดอยู่เสมอ คนในบ้านถ้าไอ จาม ให้ปิดปากปิดจมูกด้วยคอเสื้อ แขนเสื้อ ทิชชู่ หรือหน้ากากอนามัย ก่อนจะจับหรืออุ้มเด็กควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดหรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูให้ทั่วมือจนแอลกอฮอล์เจลนั้นแห้ง