; ทำซุปก้อนจากก้างปลา -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ทำซุปก้อนจากก้างปลา



ทำซุปก้อนจากก้างปลา

โดย แผนกโภชนาการ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

        เริ่มเรื่องมาจากผู้ป่วยสั่งข้าวต้มปลา ทางแผนกโภชนาการจึงสั่งซื้อปลาจากตลาด ปลาทับทิมตัวละ 1 กิโลกรัม แล่เอาเฉพาะเนื้อปลามาใช้  เหลือเนื้อปลาที่ติดอยู่ตามก้างปลา แก้มปลา นำมาต้มแล้วแกะเนื้อปลาออก สามารถทำน้ำพริกปลา ลาบปลา แกงส้ม หรือขนมจีนน้ำยาได้อีก ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสั่งปลา 1 - 4 กิโลกรัมต่อเมนู  เมื่อเหลือก้างปลา ซึ่งตามปกติจะเป็นส่วนที่ต้องทิ้งไป แต่ทางแผนกฯ ได้นำมาคิดต่อยอดว่าจะสามารถนำมาทำเมนูอะไรได้อีก

        จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้ มาผลิตเป็นซุปก้อน พบว่าสามารถทำได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในแผนกโภชนาการ อาทิ หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เครื่องปั่นอาหาร กระชอน และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ในการทำซุปก้อนจากก้างปลาได้

        โดยพบคุณค่าสารอาหารต่างๆ ในซุปก้อนดังนี้ 

คุณค่าสารอาหารที่ตรวจพบ ซุปก้อน 10 กรัม
แร่ธาตุทั้งหมด 3.533 กรัม
ไขมัน 0.636 กรัม
โปรตีน 1.155 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 2.300 กรัม
น้ำ 2.376 กรัม


        การทำซุปก้อนเอง ทำให้เราไม่ต้องใส่แอมโมเนียหรือยูเรีย และโซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นวัตถุดิบหลักเหมือนเช่นซุปก้อนที่มีขายในตลาดปัจจุบัน


ข้อสังเกตุ

        1. จากการนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้ มาผลิตเป็นซุปก้อนครั้งนี้ ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในแผนกโภชนาการ อาทิ หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เครื่องปั่นอาหาร  ซึ่งหากต้องนำหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้ จำนวนมากมาต้มและบดให้ละเอียดนั้น จะต้องใช้หม้ออัดแรงดันที่มีความดัน เครื่องปั่นอาหารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

        2. ในการตรวจสอบหาคุณค่าสารอาหารในซุปก้อนที่ได้จากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้นี้ ในส่วนของการวิเคราะห์แร่ธาตุนั้น ได้ทำการวิเคราะห์แร่ธาตุรวม ไม่ได้วิเคราะห์รวมถึงแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแร่ธาตุอื่น ๆ ซึ่งน่าจะพบแร่ธาตุดังกล่าวในปริมาณมาก

โอกาสพัฒนา

        วิเคราะห์แร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแร่ธาตุอื่น ๆ รวมทั้งตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นในซุปก้อนที่ได้จากหัวปลาและก้างปลาทับทิมที่เหลือใช้เมื่อเวลาผ่านไป