; ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

      

       ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด หมายถึง สภาวะที่มีสารบิลิรูบิน ซึ่งเป็นสารสีเหลืองในเลือดในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังและตาขาวของเด็กเป็นสีเหลือง หรือที่เรียกว่า "ดีซ่าน"


สาเหตุของภาวะตัวเหลือง   เกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่

1. สาเหตุของตัวทารกเอง

        - เม็ดเลือดแดงของทารกจะมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่ เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุจะถูกทำลายที่ตับและม้าม ปล่อยสารบิลิรูบินออกมามากน้อยแล้วแต่ปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่แตก
        - ตับของทารกยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การขับสารบิลิรูบินออกจากร่างกายได้ไม่ดี ทำให้เกิดการคั่งค้างของสารบิลิรูบิน

2. สาเหตุจากโรค

        - หมู่เลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน เกิดในกรณีที่มารดามีเลือดหมู่ โอ ทารกมีเลือดหมู่ เอ หรือ บี  ภูมิต้านทานหมู่เลือด เอ หรือ บี ในเลือดของมารดาทำให้เม็ดเลือดแดงของทารกแตกเพิ่มขึ้น
        - โรคพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
        - โรคอื่นๆ ที่พบได้น้อย เช่น โลหิตเป็นพิษ ตับเอักเสบจากเชื้อไวรัส ท่อน้ำดีอุดตัน

3. สาเหตุจากนมมารดา

        ทารกที่เลี้ยงด้วยนมมารดา อาจมีสารบิลิรูบินคั่งเนื่องจากได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ มักจะพบใน 2 - 3 วันหลังคลอด เพราะมีการจำกัดจำนวนครั้งของการดูด ร่วมกับการดูดน้ำเปล่าหรือกลูโคส การป้องกันภาวะนี้ ควรให้ทารกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด ดูดบ่อยๆ และถูกวิธี ทารกจะได้รับนมแม่เพียงพอ


ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกคลอด มีความสำคัญอย่างไร

        ถ้าระดับบิลิรูบินสูงมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษา สารบิลิรูบินจะไปจับกับเซลล์สมอง ซึ่งจะทำให้ทารกมีอาการซึม ไม่ดูดนม แขนขาอ่อนแรง ร้องเสียงแหลม บางรายอาจมีอาการชัก อาจถึงกับเสียชีวิตหรือถ้ารอดก็เกิดสมองพิการอย่างถาวร

การรักษา

        ทารกที่มีอาการตัวเหลืองทุกราย จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับบิลิรูบินเป็นระยะๆ
        - กรณีบิลิรูบินไม่สูงมาก ทารกจะสามารถขับสารบิลิรูบินออกได้เอง โดยไม่ต้องรักษา
        - การส่องไฟ โดยใช้แสงจากหลอดฟูออเรสเซนส์มาส่องเหนือตัวทารก แสงไฟก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพสารบิลิรูบิน ให้ขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะได้ง่าย

แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินว่าเมื่อไหร่ควรจะให้การรักษาด้วยการส่องไฟ โดยติดตามวัดระดับสารบิลิรูบิน

        การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นการนำเอาเลือดที่มีสารบิลิรูบินออกจากตัวทารก แล้วให้เลือดใหม่เข้าไปแทน วิธีนี้จะไม่ทำบ่อย จะทำในกรณีที่ระดับสารบิลิรูบินสูง จนอาจเป็นอันตรายกับทารกได้

คำแนะนำในการดูแลทารกแรกคลอดที่มีภาวะตัวเหลือง

        1. ให้ดูดนมบ่อยๆ เพื่อเร่งการขับสารบิลิรูบิน
        2. ควรมาพบแพทย์ ถ้าหากทารกมีอาการดังต่อไปนี้
            - ตัวเหลือง ตาเหลืองเพิ่มขึ้น
            - ซึม ไม่ดูดนม
            - ไม่ขับถ่ายอุจจาระ หรือท้องอืด