; ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ



ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดย
นพ.กลกฤตย์  เขียนประสิทธิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ

        โดยปกติหัวใจของคนเรา ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปปอดและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย  การสูบฉีดเลือดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการบีบและขยายตัวรับเลือดอย่างเป็นจังหวะสัมพันธ์กันของหัวใจแต่ละห้อง โดยอาศัยการควบคุมจากระบบประสาทอัตโนมัติและไฟฟ้าที่มากระตุ้น  ซึ่ง มีจุดกำเนิดได้เองบริเวณขั้วหัวใจและมีทางเดินไฟฟ้า กระจายตัวไปยังกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณต่าง ๆ   เปรียบเสมือนปั๊มที่คอยปั๊มน้ำไปยังที่ที่ต้องการโดยมีกระแสไฟฟ้าเป็นตัวควบคุมการทำงาน

        หัวใจคนเรา  มีจังหวะการเต้นที่สม่ำเสมอ ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่อาจเต้นช้ากว่านี้ได้  โดยพบบ่อยในกลุ่มนักกีฬา   ความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ดังนี้



        1. หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

            -พบในภาวะปกติ เช่น หลังออกกำลังกาย หรือขณะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ตื่นเต้น ตกใจ เป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกาย ในผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ  พบว่าเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นเร็วได้เช่นกัน โดยอาจมีอาการร่วมอื่นได้แก่ มือสั่น ใจสั่น หงุดหงิดง่าย น้ำหนักลด  ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น

           -ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เป็นพยาธิสภาพ  พบได้หลายชนิด ตั้งแต่หัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นเป็นบางจังหวะ  ไม่อันตรายแต่อาจทำให้ใจสั่น รู้สึกใจเต้นแรง  ภาวะดังกล่าวสัมพันธ์กับความเครียด อดนอน การดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน  หัวใจเต้นเร็วผิดปกติบางชนิด อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหน้ามืด หมดสติ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ พบบ่อยในผู้ที่มีความผิดปกติของทางเดินไฟฟ้าหัวใจ   ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่นในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  รวมทั้งผู้มีกล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ  ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตเฉียบพลันในนักกีฬา หรือคนอายุน้อย

        2. หัวใจเต้นช้าผิดปกติ

            -เกิดได้จากจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ หรือมีความผิดปกติที่ทางเดินไฟฟ้าเอง  เปรียบได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน  ถ้าต้นกำเนิดไฟฟ้าผิดปกติ หรือสายไฟมีปัญหาก็เป็นสาเหตุให้ไฟดับ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทำงาน  ความผิดปกติดังกล่าว เกิดได้ตั้งแต่กำเนิด  เกิดจากความเสื่อมตามอายุ  จากยาบางชนิดซึ่งมีผลกดการทำงานของหัวใจ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ   กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  ผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นช้า จะมีอาการหน้ามืด หมดสติ ชัก และเสียชีวิตได้ในที่สุด จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการให้ยากระตุ้นหัวใจโดยเร่งด่วน หรือติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อทำงานแทนไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ

การเสียชีวิตเฉียบพลันในนักกีฬาหรือผู้มีอายุน้อย

        เรามักได้ยินเสมอถึงข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬา หรือผู้มีอายุน้อยจากสื่อต่าง ๆ   เมื่อพิจารณาตามอายุแล้ว คนมีอายุน้อย หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายประจำน่าจะมีความเสี่ยงน้อยต่อการเสียชีวิตเฉียบพลัน  สาเหตุสำคัญที่พบได้บ่อย  อาจเกิดจาก

1. ภาวะความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ
        พบว่าการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตในนักกีฬาหรือผู้มีอายุน้อย โดยการหนาตัวที่ผิดปกติมีผลให้เกิดการปิดกั้นทางเดินของเลือดจากหัวใจสู่หลอดเลือดใหญ่ เป็นผลให้ความดันโลหิตต่ำลง หมดสติในที่สุด  นอกจากการหนาตัวที่ผิดปกติแล้ว การเรียงตัวของกล้ามเนื้อก็เป็นไปอย่างไม่มีระเบียบ บางบริเวณมีพังผืด และเป็นสาเหตุให้เกิดการหมุนวนของไฟฟ้าที่ผิดปกติ เกิดไฟฟ้าหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ทำให้หน้ามืด หมดสติ และเสียชีวิตได้

2. ภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
         ปกติหัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ได้รับเลือดมาเลี้ยงตัวมันเองจากหลอดเลือดหลัก 3 เส้น ทางด้านซ้าย 2 เส้น ขวา 1 เส้น พบว่าหลอดเลือดหัวใจที่แยกออกจากตำแหน่งที่ผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตเฉียบพลัน คล้ายกับในผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดอุดตัน

3. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
        หัวใจคนปกติมีจังหวะการเต้นที่สม่ำเสมอประมาณ 60-100 ครั้ง ความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจมีทั้งที่เต้นช้า และเร็วผิดปกติ แต่การเต้นช้ามักไม่ทำให้เสียชีวิตทันที ภาวะหัวใจเต้นเร็วมากเป็นสาเหตุให้ระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจหรือเกิดได้ในผู้มีหัวใจปกติดี

4. ภาวะลิ้นหัวใจตีบรุนแรง
        ภาวะลิ้นหัวใจตีบเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง จากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย เกิดจากความเสื่อมที่เป็นไปตามอายุ ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง อาจเป็นสาเหตุปิดกั้นการไหลของเลือดซึ่งทำให้เกิดภาวะหมดสติ เป็นลม โดยเฉพาะเมื่อออกแรง หรือออกกำลังกาย



        สาเหตุดังกล่าวทั้งหมด มักพบว่าไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากในการที่จะให้การวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตขณะออกแรง หรือญาตินำส่งเพราะพบว่าหมดสติ เรียกไม่ตื่น โดยที่ผ่านมาสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด ถ้าโชคดีก็อาจรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และเป็นเหตุให้ต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด  ข้อสังเกตส่วนหนึ่งอาจพบว่ามีประวัติการเสียชีวิตในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย เพราะมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

        ผู้มีปัญหาใจสั่น หน้ามืด หมดสติ หรือมีประวัติการเสียชีวิตของญาติสายตรงตั้งแต่อายุน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน สามารถพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติม