; ออฟฟิตซินโดรม -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ออฟฟิตซินโดรม


         
      ออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  ซึ่งมักจะเกิดที่บริเวณ คอ ไหล่ หลัง ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน บางท่าทางจะทำให้เกิดการโค้งงอผิดรูปของกระดูกได้ และบางท่าทางทำให้เกิดอาการตึง ยึด จนเกิดอาการปวดในที่สุด

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

          การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
          1. ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป
          2. สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม
          3. สภาพร่างกายที่อาจส่งผลต่อการเจ็บป่วย เช่น ภาวะเครียดจากงาน การอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียดปราศจากการผ่อนคลาย 

5 สัญญาณเตือน

        1. อาการปวดหัวเรื้อรัง อาการปวดหัวเรื้อรัง หรือบางทีมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากความเครียดในการทำงาน หรือการใช้สายตาในการทำงานเป็นเวลานาน เช่น การอ่านเอกสาร การใช้สายตาจ้องหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แสงบริเวณโต๊ะทำงานไม่เพียงพอ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมในวันที่ทำงานที่วุ่นวาย ไม่สงบ อาจจะทำให้คุณเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว

        2. อาการปวดตึงที่คอ บ่า และไหล่แบบเรื้อรัง สาเหตุของอาการนี้มาจากอะไรสังเกตง่าย ๆ ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานกว่า 8 ชั่วโมง อยู่กับกองเอกสารทั้งวัน แล้วมีอาการปวดตึงต้นคอ ปวดบ่า ปวดไหล่อยู่บ่อย ๆ หรือบางทีปวดจนหันคอลำบาก ก้มก็ร้องโอย เงยก็ร้องโอย นั่นแหละคืออาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

        3. อาการปวดหลัง อาการปวดหลังนั้น สังเกตได้ง่าย ๆ เลยเพราะเป็นอาการยอดฮิตอันดับต้น ๆ เลย สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่เรานั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ทั้งวัน หรือเป็นงานที่ต้องยืนนาน ๆ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงเป็นประจำนั้น อาการของการปวดหลังนั้นคงจะหลีกเลี่ยงได้ยากแน่ ๆ

        4. ปวดแขน มือชา นิ้วล็อค สาเหตุของอาการนี้เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ ซึ่งมาจากการที่เราใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ในการจับเมาส์ พิมพ์เอกสารในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ จึงทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทจนเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้

        5. อาการปวด ตึงที่ขา หรือเหน็บชา ลองสังเกตอาการนี้ง่าย ๆ ว่าคุณเป็นเหน็บชาบ่อยหรือเปล่า หรืออยู่ดี ๆ ขาไม่มีแรง อาการเหล่านี้เกิดจากการนั่งทำงานนาน ๆ ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติจึงเกิดอาการเหน็บชาได้ง่าย หากมีอาการแต่ไม่รีบรักษาปล่อยไว้ในระยะเวลานาน อาจเกิดอาการชาลามไปถึงข้อเท้า ขาไร้เรี่ยวแรง อาจถึงขั้นทรุดเดินไม่ได้เลยก็เป็นได้

วิธีหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม 

        เพียงแค่ในวันการทำงาน ควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนบ้าง หรือระหว่างทำงานก็ควรยืดเส้นยืดสาย กายบริหารด้วยท่าง่าย ๆ ที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลุกเดินบ้าง ออกไปสูดอากาศนอกห้องบ้าง ถือเป็นการพักสายตาไปในตัวได้ด้วย จัดระเบียบห้องให้โล่งสดใสบ้าง ผ่อนคลายปรับเก้าอี้ ปรับการวางคอมพิวเตอร์ดูว่าเหมาะสมหรือเปล่า พอดีกับเราหรือไม่ อาการที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอน 

แนวทางการรักษากลุ่มออฟฟิศซินโดรม 

        1. การรักษาด้วยยา
        2. การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง
        3. การปรับสถานีงาน พื้นที่การทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล            4. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม
        5. การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย

        อย่ารอให้อาการออฟฟิศซินโดรมถามหาในระยะที่เป็นหนัก เพราะนอกจากจะต้องเสียเวลาจนไม่ได้ทำงานอย่างที่ใจคิดแล้ว ยังเสียเงินพบแพทย์ และเสียเวลาทำกายภาพบำบัด หรือทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน เราใช้เวลาร่วมเดือนร่วมปีถึงจะมีอาการออกมา เพราะฉะนั้นตอนรักษาให้หาย ก็ไม่ได้ใช้เวลารวดเร็วอย่างที่ใจอยากให้เป็นแน่นอน