; เมื่อลูกน้อยนอนกรน -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

เมื่อลูกน้อยนอนกรน

       อาการนอนกรนในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย  เสียงกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจส่วนที่แคบลง ซึ่งอาจเป็นส่วนของโพรงจมูก ช่องคอ หรือบางส่วนของกล่องเสียง เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณดังกล่าวเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น  ในเด็กที่มีอาการนอนกรนโดยไม่มีภาวะหายใจอุดกั้น ( primary snoring ) ยังคงมีระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดปกติ แต่ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงคือ มีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ ( OSA; Obstructive Sleep Apnea ) ร่วมด้วย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้มีความผิดปกติทางพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสติปัญญา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้



OSA คือภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน มักเกิดขณะนอนหลับ เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการนอนกรนร่วมกับหยุดหายใจ ทำให้ความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนต่ำลงเป็นช่วงๆ พบได้ในเด็กทุกอายุ แต่พบบ่อยมากในช่วงอายุ 2 - 6 ปี

       อาการนอนกรนพบในกลุ่ม OSA มากกว่าเด็กปกติ  แต่ความรุนแรงของเสียงกรนไม่ได้บอกถึงความรุนแรงของโรค เด็กที่กรนดังอาจหยุดหายใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่หยุดหายใจเลย ในขณะที่เสียงกรนเบาอาจมีภาวะหยุดหายใจนาน  ดังนั้นเสียงกรนอย่างเดียวไม่สามารถบอกถึงความผิดปกติของการหายใจได้ แต่สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการทำ sleep study ที่เรียกว่า polysomnography ซึ่งเป็นการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ใขขณะที่เด็กหลับตลอดคืน

สาเหตุของการนอนกรนและการหยุดหายใจขณะหลับ

       ที่พบบ่อยและสำคัญที่สุดในเด็กคือ การโตของต่อมทอนซิลในช่องปากและต่อมอดีนอยด์ที่อยู่หลังโพรงจมูก ซึ่งมักเป็นผลจากการอักเสบเรื้อรัง เป็นผลให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด OSA ได้แก่ เด็กที่อ้วนเกินมาตรฐาน, มีพยาธิสภาพใดก็ตามตั้งแต่โพรงจมูกถึงลำคอ เช่น โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ก้อนในโพรงจมูกหรือลำคอ บางรายมีความผิดปกติแต่กำเนิดทำให้โครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น กระดูกกรามเล็ก  ลิ้นโต  โรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือโรคทางสมองที่ทำให้มีการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบหายใจผิดปกติ

  

อาการและผลเสียต่อสุขภาพเด็ก

- อาการนอนกรน อ้าปากหายใจ ร่วมกับอาการหายใจลำบากขณะนอนหลับ เช่น หายใจติดขัดหรือหยุดหายใจเป็นพักๆ ถ้าเป็นรุนแรงอาจใช้แรงมากในการหายใจจนเห็นทรวงอกยุบตัวลงไป
- นอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ตื่นกลางดึกบ่อยๆ ฝันร้ายหรือนอนละเมอ
- ปัสสาวะรดที่นอน   ปวดศีรษะในตอนเช้า   อาการง่วงนอนตอนกลางวันมากกว่าเด็กทั่วไป
- เสียงพูดไม่ชัด มีความผิดปกติในการออกเสียงพยัญชนะ  ม/น/ง ซึ่งเป็นเสียงที่ต้องมีลมผ่านจมูกทำให้ออกเสียงเหมือนคนเป็นหวัดหรืออมอะไรอยู่
- มีการอักเสบติดเชื้อของต่อมทอนซิลและอดีนอยด์บ่อยๆ เด็กอาจมาด้วยอาการเจ็บคอ หรือหวัดเรื้อรังนอกจากนี้อาจพบว่ามีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง มีน้ำขัง การได้ยินลดลง
- การเจริญเติบโตไม่สมวัย เนื่องจากเด็กใช้พลังงานในการหายใจขณะหลับมาก จึงสูญเสียพลังงานที่จะใช้ในการเจริญเติบโต ร่วมกับมีการหลั่งและการตอบสนองของ growth hormone ผิดปกติ ซึ่งจะมีการหลั่งสูงสุดในช่วงหลับลึก นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุที่เด็กทานน้อย เนื่องจากการอุดตันทางจมูกทำให้การรับรู้รสและกลิ่นลดลง ความอยากอาหารลดลง
- พฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นได้ตั้งแต่ขี้อายจนถึงสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว
- มีปัญหาการเรียน เรียนไม่ดี เนื่องจากออกซิเจนในเลือดที่ลดลงขณะหลับ หากต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อสมองและความจำ
- โครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ ( adenoid face ) ลักษณะใบหน้ายาวแบน จมูกแบน ริมฝีปากสั้น ปากบนเผยอ อ้าปากหายใจ ริมฝีปากแห้ง
- ความดันโลหิตสูง หากเป็นมานานและรุนแรง จะส่งผลให้ความดันเลือดในปอดสูงและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

แนวทางการรักษา

       1) การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

            - ปรับเปลี่ยนท่าทางการนอน โดยให้เด็กนอนตะแคงจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยกว่าท่านอนหงาย
            - หลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง
            - การรักษาด้วยยา เช่น รักษาการอักเสบของทอนซิล โพรงจมูกหรือไซนัส, รักษาโรคภูมิแพ้
            - การลดน้ำหนักในเด็กที่อ้วน
            - การใช้เครื่องอัดอากาศต่อเนื่องขณะหายใจเข้า เหมาะสำหรับเด็กที่อ้วน หรือมีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า เด็กที่มีโรคทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง

       2)  การรักษาโดยวิธีผ่าตัด

            - การผ่าตัดต่อมทอนซิลและอดีนอยด์เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น เป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยากภาวะแทรกซ้อนน้อย มีความปลอดภัยสูง เป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน และได้ผลการรักษาดีที่สุด
            - กรณีมีความผิดปกติทางกายวิภาคอื่น เช่น ก้อนในโพรงจมูก หรือการผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัส

       การนอนกรนพบได้บ่อยในเด็ก แต่หากมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยจะส่งผลเสียต่อเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ดังนั้นผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและเฝ้าสังเกตหากบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป