; เสียงแหบ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

เสียงแหบ

         เสียงแหบ คือ ภาวะที่มีเสียงเปลี่ยนผิดปกติไปจากเดิม เช่น เสียงเบาลง เสียงหยาบ เสียงเค้น เสียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ ไม่มีเสียง เสียงขาดหาย เป็นช่วงๆ

         อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง หรือที่เรียกว่ากล่องเสียง ตั้งอยู่ภายในบริเวณลำคอใต้โคนลิ้นลงไปในผู้ชายจะเห็นชัดคือส่วนที่เราเรียกว่า ลูกกระเดือก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องเสียง ภายในกล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 2 ชิ้น ที่เราเรียกว่าสายเสียง ขึงตึงจากด้านในของลูกกระเดือกไปยังส่วนหลังของกล่องเสียง สายเสียงนี้สามารถเคลื่อนไหวเปิดปิดให้ลมหายใจเข้าออกได้  แรงดันของลมจากในปอดเคลื่อนขึ้นมาขณะที่สายเสียงปิดอยู่ทำให้มีการสั่นสะเทือนของสายเสียง กลายเป็นเสียงและเสียงก็จะถูกปรับปรุงให้เป็นคำพูดที่ชัดเจนโดยอวัยวะในช่องปากซึ่งได้แก่ ลิ้น ฟัน เพดาน และอื่น ๆ

เสียงแหบเกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ 

         1. ความผิดปกติในโครงสร้างของสายเสียง
         2.ความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสายเสียง

ในกลุ่มเสียงแหบที่เกิดจากความผิดปกติของตัวสายเสียงเองนั้น ได้แก่ 

         - ความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ขึงระหว่างสายเสียงทั้ง 2 ข้าง 
         - การอักเสบของกล่องเสียงจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส เช่นขณะเป็นหวัด หรือจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้แต่น้อย เช่น วัณโรคปอด ที่ทำให้มีอาการไอเรื้อรังหรือมีความผิดปกติของสายเสียงเอง
         - กล่องเสียงอักเสบจากภาวะกรดไหลย้อนคือภาวะน้ำย่อยในกระเพาะออกมาระคายเคืองที่กล่องเสียง บางคนอาจมีอาการเรอเปรี้ยว แสบในอกร่วมด้วย รู้สึกคล้ายมีก้อนจุกอยู่ในคอ มีเสมหะเหนียวๆ ในคอ และระคายคอ
         - กล่องเสียงอักเสบจากการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้มีการระคายเคืองของกล่องเสียงและสายเสียง รวมทั้งเป็นปัจจัยเสียงของการเกิดมะเร็งกล่องเสียงด้วย
         - ติ่งเนื้อที่เกิดจากการใช้เสียงมาก ใช้เสียงผิดวิธี หรือเนื้องอกของสายเสียง แบ่งได้เป็นชนิดร้ายแรงและชนิดไม่ร้ายแรง
         - การได้รับกระแทกบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้กระดูกอ่อนของกล่องเสียงแตกหัก
         - ไฟลวกบริเวณใบหน้าหรือส่วนบนของลำตัว หายใจเอาลมร้อนจัดเข้าไปลวกเยื่อบุของทางเดินหายใจรวมทั้งกล่องเสียง 
         - สาเหตุอื่นเช่น ภูมิแพ้  เสียงแหบขณะมีรอบประจำเดือน หรือสายเสียงที่เปล่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น

ส่วนกลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสายเสียงโดยที่ไม่พบพยาธิสภาพของเส้นเสียง ได้แก่

         - อัมพาตของสายเสียง คือสายเสียงไม่สามารถขยับได้ตามปกติ อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้าง สาเหตุที่พบบ่อย คือ ภายหลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ที่คอ แล้วมีการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของสายเสียง ทำให้สายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ อัมพาตของสายเสียงอาจเกิดจากพยาธิสภาพในส่วนของปอดหรือทรวงอก เช่น มะเร็งในปอด เส้นเลือดในทรวงอกโป่งพอง เป็นต้น
         - พวกที่ใช้เสียงผิดจนติดเป็นนิสัย 
         - พวกที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ อาจทำให้เกิดเสียงเปลี่ยน หรือไม่มีเสียงเลยได้ 

         เสียงแหบจากหวัดหรือคออักเสบ สามารถรักษาได้โดยแพทย์ทั่วไป แต่ถ้าแหบนานเกิน 2 สัปดาห์หรือไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อตรวจสายเสียงและกล่องเสียงโดยตรง ปัญหาเสียงแหบควรได้รับการแก้ไขโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์และบุคลากรด้านนี้โดยตรง

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์หู คอ จมูก

         - เสียงแหบนานเกินกว่า 2-3 สัปดาห์
         - เมื่อมีเสียงแหบร่วมกับเจ็บในคอ (ที่ไม่ใช่หวัด) ไอเป็นเลือด มีอาการกลืนลำบาก รู้สึกมีก้อนในคอ คลำได้ก้อนที่คอ

         แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจสายเสียง และกล่องเสียง โดยใช้กระจกส่องตรวจที่บริเวณกล่องเสียง บางครั้งอาจใช้กล้องขนาดเล็ก (Fiberoptic Laryngoscope) ส่องผ่านจากจมูกลงไปที่คอเพื่อดูกล่องเสียง และบันทึกเทปไว้ การตรวจวิธีนี้ไม่ทรมาน และไม่เจ็บ ถ้าพบก้อนเนื้องอกที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนและให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเสียงแหบ
       
         - พักการใช้เสียง หรือใช้เสียงเท่าที่จำเป็น
         - ฝึกการออกเสียงที่ถูกต้อง ในกรณีที่ใช้เสียงผิดวิธี เช่น ชอบตะโกน ตะเบ็งเสียงเป็นประจำ
         - หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
         - หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
         - หลีกเลี่ยงภูมิอากาศที่แห้งแล้ง
         - หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด

         ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้หากเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ ถ้ามีตุ่มหรือก้อนเนื้อที่สายเสียงบางครั้งอาจต้องใช้วิธีส่องกล้องเพื่อตัดก้อนเนื้อออก ส่งชิ้นเนื้อตรวจเพื่อการวิจฉัยและการรักษาต่อไป