; โรคซึมเศร้า -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคซึมเศร้า



       
         หลายๆครั้งเมื่อเรารู้สึกเศร้า มักทำให้เรากังวลใจว่า เรากำลังเป็นโรคซึมเศร้าแล้วหรือไม่ แต่ในความจริงแล้ว การเป็นโรคซึมเศร้านั้น ผู้ป่วยต้องมีความผิดปกติ ทั้งด้าน อารมณ์ ความคิด บางคนมักมีอาการทางกายร่วมด้วย โดยสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากจะมาจากปัจจัยความเครียดต่างๆในชีวิตแล้ว มักต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น ความผิดปกติการหลั่งสารเคมีในสมอง ประวัติด้านพันธุกรรม เป็นต้น

“6 คำถามกับโรคซึมเศร้า”

1. โรคซึมเศร้าต่างจากอารมณ์เศร้าทั่วไปยังไงคะ



ตอบ 
         “อารมณ์เศร้า” เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ มักเกิดเมื่อเราต้องเจอกับความผิดหวัง ความสูญเสีย การไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะคงอยู่ซักพักแล้วก็จะค่อยๆจางหายไปเองหรือเมื่อทำกิจกรรมที่ชอบก็จะรู้สึกอารมณ์ดีมากขึ้น แต่ “โรคซึมเศร้า”นั้นอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่เกือบตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัปดาห์เป็นเดือนหรือเป็นปีๆ ทำให้มีลักษณะเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ใจ ขาดความสนใจจากสิ่งที่เคยชอบ ขี้ลืมบ่อยมากขึ้น มีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และในรายที่รุนแรงก็อาจมีความคิดอยากตายหรือการฆ่าตัวตายร่วมด้วย ที่สำคัญอาการต่างๆเหล่านี้จะต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จึงจะนับว่าเป็นโรคซึมเศร้า

2. โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไรคะ


ตอบ    

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายๆอย่างรวมกัน ได้แก่

  • ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง โดยเฉพาะ สารซีโรโทนิน นอร์อดรีนาลีน และโดปามีน
  • ปัจจัยกระตุ้นทางจิตสังคม เช่น การสูญเสีย การจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก ปัญหาภายในครอบครัว
  • ปัจจัยทางด้านเพศ พบว่าเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า

         ปัจจัยทางกรรมพันธุ์พบว่าคนที่มีญาติพี่น้องสายตรงป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วๆไป

3. อาการสำคัญของโรคซึมเศร้าที่เราจะสังเกตได้มีอะไรบ้างคะ

ตอบ    

9 สัญญาณเตือนที่อาจเป็นโรคซึมเศร้า

  • มีอารมณ์ซึมเศร้าติดต่อกันทั้งวัน ทุกวัน
  • ทำกิจกรรมที่เคยชอบแล้วไม่รู้สึกมีความสุขเหมือนเดิม
  • น้ำหนักลด หรือเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีอาการเบื่ออาหาร หรือรู้สึกอยากทานมากกว่าปกติ
  • นอนไม่หลับ หรืออาจต้องการนอนมากเกินไป
  • ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิดง่ายมากขึ้น
  • อ่อนเพลีย มักไม่มีเรี่ยวแรง
  • รู้สึกตนเองไร้ค่า
  • เหม่อลอยบ่อย ไม่ค่อยมีสมาธิ จดจ่อ ขี้ลืมบ่อยมากขึ้น
  • คิดหมกหมุ่น เรื่องความตาย

4. ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าคะ

ตอบ    

         เมื่อสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า การไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ประโยนช์ที่จะได้จากการไปพบแพทย์ ได้แก่

1. ได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางการแพทย์
2. ได้รับการตรวจเพื่อค้นหาโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าโรคทางกายบางโรค มักมี  อาการซึมเศร้าร่วมเกิดขึ้นได้ เช่นโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น SLE เป็นต้น
3. ได้รับการตรวจประเมินความรุนแรงของโรคซึมเศร้า
4. ได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายและอาการทางจิต เช่นเริ่มมีหูแว่ว/เห็นภาพหลอน ซึ่ง อาการดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ควรรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด
5. ได้รับการบำบัดรักษาที่เป็นองค์รวม ทั้งการกินยา การทำจิตบำบัด การให้คำแนะนำ และการจัดการปัญหา ที่เป็นสาเหตุ


5. เราจะดูแลสุขภาพจิตเรายังไงได้บ้างคะเมื่อรู้ว่ากำลังซึมเศร้า




ตอบ    

  • เราควรหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดรุนแรง
  • หากิจกรรมเพื่อความผ่อนคลาย เมื่อรู้ตัวว่าตนเองเริ่มเครียดมากขึ้น เช่นการดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย กับคนสนิท เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หยุดการตำหนิและโทษตัวเอง
  • รู้จักให้กำลังใจตนเอง
  • ฝึกคิดบวก ทั้งต่อตัวเอง สังคม และผู้อื่น
  • ตั้งเป้าหมายไม่สูงหรือยากเกินไปควรเริ่มใช้วิธีตั้งเป้าหมายเล็กๆในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อทำสำเร็จ จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำกิจกรรมที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ
  • เมื่อต้องมีสิ่งสิ่งที่ต้องจัดการหลายอย่าง ควร ค่อยๆเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำก่อนหลัง
  • เฝ้าระวังความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง ต้องบอกคนใกล้ชิดให้ทราบเสมอเมื่อมีความคิดถึงความ ตาย/ความไม่อยากมีชีวิตอยู่


6. เป็นโรคซึมเศร้าไม่ต้องกินยาได้ไหมคะ



ตอบ    
         การดูแลรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกัน กรณีซึมเศร้าชนิดไม่รุนแรง อาจจะไม่ต้องกินยาต้านก็ได้ อาจใช้การปรับการดำเนินชีวิตประจำวัน ออกกำลังกาย ปรับวิธีคิด ฝึกคิดบวก การทำจิตบำบัด การนั่งสมาธิ หรือปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะทำให้โรคดีขึ้น แต่ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้าในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง การกินยาต้านเศร้า จะมีบทบาทสำคัญต่อการหายของโรคค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งยาต้านซึมเศร้าจะไม่มีฤทธิ์ให้เกิดการเสพติดยา แต่อย่างไรก็ตาม ควรอยู่ภายใต้ การดูแลโดยจิตแพทย์ เพื่อให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคนให้มากที่สุด