; โรคนิ่ว -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคนิ่ว



      นิ่ว คือ ก้อนหินเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากการจับตัวกันของผลึกซึ่งตกเป็นตะกอนที่อยู่ในน้ำปัสสาวะที่เข้มข้น รวมตัวกันเป็นนิ่วเกิดขึ้นในไต ซึ่งนิ่วที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเคลื่อนหลุดออกมาที่ท่อไต และลงไปในกระเพาะปัสสาวะ นานวันขึ้นขนาดของนิ่ว ก็จะมีโอกาสที่จะโตมากขึ้นถ้านิ่วที่อยู่ในไตนั้นไม่เคลื่อนหลุดออกมา


        โรคนิ่วสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า มักจะพบในประเทศเขตร้อนมากกว่าเขตหนาว พบในหน้าร้อนมากกว่าหน้าหนาว อาหารก็มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนิ่ว อาชีพที่ทำงานกลางแดด ทำงานอยู่หน้าเตาไฟก็มีโอกาสเป็นมากกว่า

        ความเข้มข้นของผลึกที่มีอยู่ในน้ำปัสสาวะ คือ ถ้ามีความเข้มข้นมากก็จะมีโอกาสที่นิ่วจะก่อตัวมากขึ้นนั้น หมายความว่า ถ้าดื่มน้ำมาก จะทำให้ความเข้มข้นของผลึกเหล่านั้นลดลงด้วยความเป็นกรด-ด่างของน้ำปัสสาวะ สารระงับการตกตะกอนในน้ำปัสสาวะ

สาเหตุที่พบ 
  • พันธุกรรม เช่น โรคไตบางชนิด (Renal Tubular Acidosis)
  • ขาดสารยับยั้งนิ่วในผู้ป่วย (Citrate Pyrophosphate)
  • อายุ พบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมากในเด็กและผู้สูงอายุ นิ่วในไตและท่อไตมักพบในผู้ใหญ่
  • สภาพแวดล้อม และภูมิอากาศ มักพบนิ่วในหน้าร้อน และภูมิอากาศแห้งแล้งมากกว่า
  • การดื่มน้ำและปริมาณปัสสาวะ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย และปัสสาวะน้อยครั้ง มีโอกาสพบนิ่วได้มากกว่า
  • อาหารบางชนิดมีส่วนสำคัญในการเกิดนิ่ว เช่น นิ่วยูริค จะพบมากในผู้ที่ทานโปรตีนมาก


อาการ

        นิ่วมักจะทำให้มีอาการปวดที่เอวหรือท้องน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของการอุดตัน เช่น นิ่วที่อยู่ในท่อไตจะมีอาการปวดได้มากกว่านิ่วที่อยู่ในไต อาการปวดนี้จะปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็น ๆ หาย ๆ ได้

การตรวจวินิจฉัย

        การเอ็กซเรย์ IVP (Intravenous pyelography) เพื่อดูการทำงานของไตทั้งสองข้างและตำแหน่งของนิ่วที่มีการอุดตัน
 
การรักษา 

        ขึ้นกับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของนิ่ว และผลต่อการทำงานของไต นิ่วที่มีขนาดเล็กประมาณ 4 มิลลิเมตร มักจะสามารถหลุดออกไปได้เอง นิ่วที่มีขนาดใหญ่และมีผลทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี หรือนิ่วที่ไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ มีแนวทางรักษาดังนี้

1. สลายนิ่ว 
        การสลายนิ่ว (EEWL) Extracorporeal Shockwave Lithotripsy เป็นกรรมวิธีรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีบาดแผล และไม่ต้องดมยาสลบ ทำโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ที่มีความจำเพาะหรือพลังงาน Shockwave ไปสู่ตัวนิ่วที่แข็ง จึงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว ทำให้เกิดรอยร้าวจนแตกเป็นผงในที่สุด ผงนิ่วจะหลุดไหลออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะคลื่นเสียงที่กำเนิดมาจากเครื่องสลายนิ่วจะถูกควบคุมให้พุ่งสู่ก้อนนิ่ว โดยไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย

ข้อห้ามในการสลายนิ่ว

        1. ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์
        2. ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดแดงในช่องท้องโป่งพอง
        3. ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดไม่คงที่หรือควบคุมไม่ได้
        4. ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น มีไข้สูง
        5. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด 

ข้อดีของการสลายนิ่ว  คือ ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ จึงใช้เวลารักษาตัวและพักฟื้นน้อยกว่า

2. การส่งกล้องในท่อไต (Ureterorenoscopy) โดยใช้กล้องส่องขนาดเล็กผ่านทางท่อ ปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และขึ้นไปในท่อไตจนถึงตำแหน่งของนิ่ว จากนั้นทำการคีบ หรือคล้องนิ่วออกมา ถ้านิ่วเม็ดค่อนข้างใหญ่ อาจต้องใช้เครื่องมือสลายนิ่วให้แตกก่อน แล้วคีบออกมา เหมาะสำหรับนิ่วในท่อไต
 
3. การเจาะไต (Percutaneous Nephrolithotripsy) โดยการใช้กล้องส่องเข้าไปในไตโดยตรง โดยการเจาะจากทางด้านหลังของลำตัวใกล้ตำแหน่งของไต เมื่อกล้องส่องในไตจนเห็นนิ่ว จะทำการสลายนิ่วเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วคีบออก เหมาะสำหรับนิ่วในไตที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่
 
4. การผ่าตัด เป็นวิธีดั้งเดิมที่เคยใช้อยู่ในอดีต ก่อนที่จะมีเครื่องมือ และวิธีการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบนี้


การป้องกัน

        วิธีที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป คือ การดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อเป็นการเจือจาง และลดความเข้มข้นของผลึก ที่อาจจะตกตะกอนรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องนำนิ่วมาตรวจวิเคราะห์หาส่วนประกอบของตัวนิ่วเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ร่วมกับเลือดและปัสสาวะ ซึ่งนำไปสู่แนวทางการป้องกันการเกิดโรคนิ่วใหม่ในนิ่วบางชนิด