; โรคบาดทะยัก -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยัก

        เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันที่เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยัก เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทางบาดแผล เชื้อจะเจริญเติบโตในบาดแผลที่ไม่มีอากาศ เช่น
        - แผลลึก เช่น ตะปู มีดบาด ไม้ตำ
        - แผลที่มีสะเก็ดปกคลุม หนา ๆ เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลในสะดือเด็กแรกเกิด

       **จากสถิติพบว่า ถ้าเด็กแรกเกิดเป็นบาดทะยัก จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น**

อาการ

        หลังจากการรับเชื้อในระยะ 3 วัน ถึง 3 สัปดาห์ จะเกิดการอักเสบของบาดแผล  กล้ามเนื้อรอบ ๆ บาดแผลจะปวดและกระตุก มีอาการเกร็ง ขากรรไกรแข็งและคอแข็ง ต่อมาจะเป็นที่ลำตัวแต่จะรู้สึกตัวดีอยู่ (บางครั้งผู้ป่วยจะจำไม่ได้ว่ามีบาดแผล หรือเชื้อเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่เมื่อไร จะรู้ต่อเมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว) ถ้าแผลใหญ่ โรคมักรุนแรง อัตราการเสียชีวิตสูง

        กรณีเด็กทารก จะพบว่าเด็กไม่ดูดนม ขากรรไกรแข็ง ไม่อ้าปาก ชักเกร็ง กระตุก หลังแข็ง ร้องกวน และถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้

การติดต่อ

        เชื้อจะอาศัยอยู่ในดิน ฝุ่นตามถนน หรืออุจจาระของคนและสัตว์ (สะสมอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์) เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อ

        เมื่อบาดแผลสัมผัสกับเชื้อโดยเฉพาะบาดแผลที่ลึก ปากแผลปิด (การทำความสะอาดบาดแผลไม่ถูกวิธี) หรือบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลกระรุ่งกระริ่ง หรือแผลที่ไม่ได้เอาใจใส่  สำหรับในเด็กทารกแรกเกิด เกิดจากแผลที่ตัดสายสะดือที่ดูแลไม่สะอาด เช่น เอาสมุนไพรใส่แผล 



การป้องกัน

        1. ในเด็กแรกเกิด ป้องกันโรคนี้ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้แก่แม่ในขณะตั้งครรภ์ 2 ครั้ง  ครั้งที่ 1 ให้ตั้งแต่รู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์  และครั้งที่ 2 ให้อีก 1 - 2 เดือน หลังจากได้รับเข็มแรก  เด็กแรกเกิดก็จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ และควรฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกครั้งที่ตั้งครรภ์
        2. ตัดสายสะดือด้วยเครื่องมือที่สะอาดและปลอดเชื้อโรค
        3. ในเด็กเล็ก ให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมกับวัคซีนคอตีบ ไอกรน ตามกำหนดการให้วัคซีน 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ขวบครึ่ง, 4 ขวบครึ่ง รวม 5 ครั้ง  หลังจากนั้น ควรกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี สำหรับโรคบาดทะยัก 
        4. เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีให้หายเร็วที่สุด
        5. หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง ที่ดูแลความสะอาดไม่ได้ ปวดบวมแดง มีอาการเกร็ง กระตุก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร่งด่วน