; โรคเบาหวาน -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคเบาหวาน



        เบาหวาน เป็นกลุ่มอาการของโรคที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ซึ่งก่อให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง อันเป็นผลมาจากความผิดปกติในการหลั่งอินซูลินหรือความผิดปกติในการออกฤทธิ์ของอินซูลินหรือทั้งสองอย่าง

สาเหตุ  แบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรค

        โรคเบาหวานชนิดที่ 1  เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ส่วนใหญ่พบในอายุน้อยกว่า 30 ปี รูปร่างไม่อ้วน

        โรคเบาหวานชนิดที่ 2  เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือนำอินซูลินไปใช้ได้ไม่ดี มักพบในอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป รูปร่างท้วมหรืออ้วน ประวัติมีพ่อ แม่ หรือพี่น้องเป็นเบาหวาน

        โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ  เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อจากยา จากการติดเชื้อ หรือโรคเบาหวานที่พบร่วมกับกลุ่มอาการต่างๆ ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะของโรคหรือกลุ่มอาการนั้นๆ 

        โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  เป็นโรคเบาหวานที่ตรวจพบครั้งแรกในหญิงตั้งครรภ์


อาการและอาการแสดง

        1. อาการปัสสาวะบ่อยและมาก
        2. หิวน้ำมาก อ่อนเพลีย
        3. กินจุ แต่น้ำหนักลดลง
        4. คันตามผิวหนังและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
        5. ชาตามปลายมือ ปลายเท้า หมดความรู้สึกทางเพศ
        6. ตาพร่ามัว ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ
        7. คลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม ในแม่ที่เป็นเบาหวาน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน

        1. มีอาการและอาการแสดงเข้ากับโรค
        2. จากการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หลังงดอาหารและน้ำมากกว่า 8 ชั่วโมง พบค่า > 126 mg/dl และตรวจยืนยันอีกครั้งต่างวันกัน

การรักษา

        โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่หายขาด จะต้องควบคุมโรคไปตลอดชีวิต และอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติในการดูแลตนเองตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดย


        1. การควบคุมอาหาร
            - ลดอาหารจำพวกแป้งลง หรืออาหารที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น ข้าวมันไก่ คุกกี้ เค้ก พาย ขนมหวานต่างๆ
            - หลีกเลี่ยงการกินเนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอดต่างๆ
            - หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไยแห้ง ผลไม้ตากแห้ง
            - งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

        2. การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยสามารถทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงได้ เนื่องจากขณะออกกำลังกายจะต้องใช้พลังงานและแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของร่างกายคือน้ำตาล หากออกกำลังกายเพียงพอ ร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานมากพอที่จะลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น กล่าวคือ อินซูลินปริมาณเท่าเดิม แต่ร่างกายจะสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน ได้เคลื่อนไหวออกแรงพร้อมๆ กัน และไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ และการว่ายน้ำ การทำท่าบริหารข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆ

        3. การใช้ยา  ซึ่งมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีด ซึ่งจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่อาจจะเกิดขึ้น

        1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) จะมีอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก สั่น ตัวเย็น ซีด หิว กระวนกระวาย ความรู้สึกตัวลดลง สับสน อาจหมดสติ  เมื่อมีอาการดังกล่าวให้รีบดื่มน้ำหวานหรืออมทอฟฟี่ ถ้าไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ญาติควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

        2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) จะมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หอบ ระดับความรู้สึกตัวลดลง ซึมลง

        3. ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่
            - ตา  ถ้ามีอาการผิดปกติทางตา เช่น ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ควรปรึกษาจักษุแพทย์
            - ไต  ลดการทำงานของไตโดยการงดอาหารเค็ม รับประทานอาหารโปรตีนน้อยลง หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต
            - ระบบประสาท  ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและบริหารมือและเท้าเพื่อช่วยลดอาการประสาทส่วนปลายเสื่อม ลดอาการชาบริเวณปลายมือปลายเท้า
            - ระบบหัวใจและหลอดเลือด  ลดปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย และความดันโลหิตสูง รวมทั้งการมารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่แพทย์จะได้จัดการเรื่องการใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นเบาหวาน

        1.  รับประทานยาตามมื้อที่แพทย์สั่ง ตรงเวลา สม่ำเสมอ รู้ชื่อยา ควรนำยาติดตัวไปด้วย
        2.  ทราบผลข้างเคียงของยา ควรปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่ามีอาการข้างเคียงของยา
        3.  ทราบวิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยหรือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น เกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูง
        4.  ผู้ป่วยเบาหวานที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเนื่องจากยาเบาหวานชนิดรับประทานสามารถผ่านทางรกไปสู่เด็กและผ่านทางน้ำนมได้
        5.  การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก อาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อร่วมกับทานยาเม็ดลดระดับน้ำตาลจะมีการลดการสร้างน้ำตาลจากตับ จากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ในบางครั้งแอลกอฮอล์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ เนื่องจากให้พลังงานสูงเทียบเท่ากับไขมัน
        6.  ออกกำลังกายที่เหมาะสม สม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์
        7.  ควรงดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
        8.  ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ
        9.  ควรมีน้ำตาลหรือลูกอมพกติดตัวไว้ ถ้ามีอาการใจสั่น หน้ามืด หิว ตาลาย ให้รีบกินทันที
        10.การดูแลรักษาเท้าเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงมากกว่าคนปกติ ควรมีการบริหารเท้า ดูแลความสะอาดของเท้า พร้อมทั้งเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ระวังไม่ให้เกิดแผล ถ้ามีแผลให้รีบรักษาทันที
        11.มาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด หรือก่อนนัดเมื่อมีปัญหา

การสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์

        มีอาการน้ำตาลต่ำ แก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น มีแผลที่เท้า มีอาการบวมที่เท้า อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง มีไข้ มีการติดเชื้อในร่างกาย มีอาการน้ำตาลในเลือดสูง