; โรคไต -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคไต



        ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญ หน้าที่หลักของไตคือการกรองของเสียจากเลือด และขับถ่ายออกทางปัสสาวะ รวมทั้งรักษาดุลของน้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรดด่างของเลือด

        โรคไตเรื้อรัง "ไตเสื่อมหรือไตวาย" หมายถึง ภาวะที่มีการทำงานของไตลดลงจนเกิดการคั่งของของเสีย

สาเหตุ
        - ไตอักเสบ หรือเป็นนิ่วในไต ทำให้ไตมีการเสื่อมสภาพลง
        - อาหาร การได้รับสารพิษจากอาหาร กินอาหารเค็มจัด หรือได้รับอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไปและเป็นระยะเวลานาน
        - โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

ระยะของโรค
        ระยะที่ 1     ไตเริ่มเสื่อม ค่าการทำงานของไตปกติ
        ระยะที่ 2     ไตเสื่อม ค่าการทำงานของไตลดลงเล็กน้อย
        ระยะที่ 3     ค่าการทำงานของไตลดลงปานกลาง
        ระยะที่ 4     ค่าการทำงานของไตลดลงมาก
        ระยะที่ 5     ไตวาย

อาการของโรคไตเรื้อรัง  ระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการรุนแรง จนอาจมีอาการดังนี้
        - อ่อนแรง คิดอะไรไม่ค่อยออก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
        - ผิวแห้ง คัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน
        - ตาบวมน้ำ โดยเฉพาะในตอนเช้า เท้าและข้อเท้าบวม
        - ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน

ความสำคัญของการควบคุมอาหาร
        - ชะลอการเสื่อมของไต
        - ยืดเวลาที่จะต้องล้างไตให้ช้าลง
        - ลดภาระการทำงานของไตในการขับถ่ายของเสีย ทำให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ไม่ต้องทำงานหนักเกินตัว
        - ลดการคั่งของของเสียที่เกิดจากการรับประทานอาหาร
        - ป้องกันภาวะขาดสารอาหาร
        - ช่วยให้สุขภาพดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สารอาหารที่มีผลต่อไต

        โซเดียม  ร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณเล็กน้อยเพื่อควบคุมความดันโลหิต เมื่อเป็นโรคไตร่างกายจะไม่สามารถกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกไปได้ ทำให้เกิดมีน้ำคั่งและเกิดอาการบวม ความดันโลหิตสูง มีน้ำท่วมปอด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
        อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 
เช่น ปลาเค็ม ไส้กรอก อาหารดอง ขนมขบเคี้ยว ขนมปังที่ใส่ผงฟู

        โพแทสเซียม  เป็นเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เมื่อไตทำงานลดลง จะลดการขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวหรือหัวใจเต้นผิดปกติได้  ผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นและปานกลาง สามารถรับประทานผักและผลไม้ได้โดยไม่ต้องจำกัด แต่สำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ควรควบคุมปริมาณผักและผลไม้ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้วันละ 1 - 2 ครั้ง เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ผักกาดหอม แตงกวา ถั่วงอก องุ่น สับปะรด เป็นต้น
        อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง  เช่น ผลไม้แห้งทุกชนิด ทุเรียน มะขาม แคนตาลูป น้ำลูกยอ มะเขือเทศ ผักใบเขียว หัวผักกาด กล้วย ส้ม มะละกอ ขนุน

        ฟอสฟอรัส  เมื่อไตวาย ร่างกายจะมีปัญหาการดูดซึมแคลเซียมและการกำจัดฟอสฟอรัส จะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อย และมีฟอสฟอรัสในเลือดมากเกินไป
        อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง  เช่น รำข้าว เนยแข็ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นมข้นหวาน ไข่ปลา ไข่แดง กุ้ง ปู ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ผงฟู ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำอัดลมสีดำ

        โปรตีน  เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่ควรจำกัดปริมาณอาหารที่มีโปรตีนสูง ทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ไม่ให้มากเกินไป เพื่อเป็นการลดการทำงานของไต
        อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง  ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังเป็ดและหนังไก่ เนื้อหมูและเนื้อวัวติดมัน ซี่โครงหมูที่ติดมันมาก หมูหัน หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ห่านพะโล้ ไข่ปลา ไข่กุ้ง เป็นต้น  และเนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ ซึ่งจะทำให้ไตทำงานขับถ่ายของเสียหนักขึ้น เช่น เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ หนังสัตว์ กระดูกอ่อน รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ และขนม อาหารที่มีไส้ถั่ว

ข้อควรปฏิบัติ
        - ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายในแต่ละมื้ออาหาร และครอบคลุมกลุ่มข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้
        - ผู้มีภาวะไตเรื้อรัง ห้ามใช้ซอสปรุงรสเทียม เกลือเทียม ซีอิ๊วเทียม น้ำปลาเทียม หากต้องการเพิ่มรสชาติอาหารให้ใช้เครื่องเทศแทน
        - ญาติ ผู้ดูแล และผู้ป่วย ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งถึงรายการยา รวมทั้งวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรที่ผู้ป่วยได้รับในปัจจุบัน
        - หากเจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
        - แจ้งแพทย์ถึงความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่ม ขาบวม หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตะคริว แขน-ขาชา ไม่มีแรง คันตามผิวหนัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด