; ไวรัสโรต้า -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ไวรัสโรต้า

สิ่งที่คุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

  • ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก

  • การดูแลเรื่องความสะอาดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้

  • 3 อาการเด่นของโรคคือ อาเจียน ไข้ และถ่ายเหลว อาจเกิดได้มากถึง 10 – 20 ครั้งต่อวัน

  • หากเด็กขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

 

ไวรัสโรต้า อยู่ได้ทุกที่

        โรต้า เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมาก เชื้อชอบแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ เช่น ของเล่น และมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นวันๆ ถึงแม้จะดูแลเรื่องความสะอาดของน้ำ อาหาร และที่อยู่เป็นอย่างดี ก็ยังไม่สามารถปกป้องลูกรักจากไวรัสตัวนี้ได้ เพราะเพียงแค่สัมผัสของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าปากก็สามารถติดเชื้อไวรัสโรต้าได้แล้ว

 

 

อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
อย่านิ่งนอนใจเพราะอาการรุนแรงกว่าที่คิด

  • เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กทารกและเด็กเล็กในประเทศไทยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอจุจาระร่วง มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรต้า

  • หลังจากได้รับเชื้อ 1 – 2 วัน ทารกและเด็กเล็กจะมีอาการอาเจียน มีไข้ และถ่ายเหลว ไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และถ่ายเหลวอาจมากถึง 10 – 20 ครั้งต่อวัน อาการอาจเป็นเรื้อรังนาน 9 วัน ถึง 3 สัปดาห์ได้

  • หากถ่ายเหลวมากหรือเป็นเวลานาน จะทำให้เด็กขาดน้ำและเกลือแร่จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจะบั่นทอนทั้งสุขภาพเด็กและสร้างความเครียดให้กับพ่อแม่และครอบครัว 

อาการที่ต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

        1. เด็กมีอาการซึมลง
        2. ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย 4 – 6 ชั่วโมง
        3. ตัวเย็น หรือมีไข้สูง
        4. มีอาการหอบ เหนื่อย
        5. มีอาการชัก
        6. อาเจียนมาก

โดนเล่นงานหนักสุดในทารกและเด็กเล็ก

        เด็กในวัย 6 เดือน ถึง 2 ขวบ เป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากไวรัสโรต้าได้มากที่สุด อาการของโรคที่รุนแรงจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ถ้าติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วจะรักษาอย่างไร

        แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกเบื้องต้นได้ เช่น เมื่อลูกขาดน้ำและเกลือแร่ควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับเด็ก แต่ถ้าลูกไม่สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ได้เพียงพอ หรือเด็กมีภาวะขาดน้ำรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที

ป้องกันทารกและลูกน้อยจากไวรัสโรต้า

  • สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ การรักษาสุขภาพอนามัยของสมาชิกในบ้านและบริเวณที่ลูกชอบไปเล่น รวมถึงของเล่นต่างๆ อีกทั้งควรล้างมือให้ลูกบ่อยๆ ร่วมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

  • การเสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยวัคซีนชนิดกินเป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลดี โดยพาลูกไปรับวัคซีน วัคซีนที่ให้ มีชนิดที่ให้ 2 ครั้ง ที่อายุ 2 และ 4 เดือน กับชนิดที่ให้ 3 ครั้งห่างกัน 1 เดือน จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้