; ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Health Care Center) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai
ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Health Care Center)

ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Health Care Center)

    

ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Health Care Center)

        ให้บริการตรวจสุขภาพในโปรแกรมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล อาทิ
     -  ตรวจสุขภาพเพื่อสมัครงาน ศึกษาต่อต่างประเทศ หรือทำประกันชีวิต
     -  ตรวจสุขภาพประจำปี (แบบกลุ่ม) สำหรับพนักงานบริษัท
     -  ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับบุคคลทั่วไป ได้แก่

  • โปรแกรมพื้นฐาน 1, พื้นฐาน 2, พื้นฐาน 3
  • โปรแกรมสำหรับอายุ 40 ปี ขึ้นไป 
  • โปรแกรม Premium
  • โปรแกรมผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป)
  • โปรแกรมก่อนสมรส
  • โปรแกรมคัดกรองเด็กน้ำหนักเกินมาตรฐาน (BMI > 27)

        เวลาทำการ
        จันทร์ - เสาร์  เวลา 08.00 - 16.00 น.
        หยุดวันอาทิตย์ และ วันนักขัตฤกษ์ 

        สอบถามรายละเอียด :  โทร. 053-921777 ต่อ 1279

        ตารางแพทย์ออกตรวจ ศูนย์ตรวจสุขภาพ

        หมายเหตุ : วันและเวลาทำการ อาจมีการเปลี่ยนแปลง 
                             เพื่อทราบข้อมูลที่ถูกต้อง กรุณาตรวจเช็คข้อมูลกับทางโรงพยาบาลก่อนเข้ารับบริการ
                             ที่หมายเลขโทรศัพท์  053-921777

        
        ตรวจสุขภาพประจำปี สำคัญอย่างไร  

        ในปัจจุบัน การดำเนินชีวิตที่มีความรีบเร่ง ส่งผลให้พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เช่น การบริโภคอาหารไขมันสูง การละเลยการออกกำลังกาย ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นได้ในอนาคต

        การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยตรวจหาภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคตั้งแต่ก่อนมีอาการหรือก่อนที่โรคจะลุกลาม เพราะการรักษาโรคในระยะเริ่มต้น สามารถช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคได้

        
        การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ  

        1. งดน้ำและอาหารก่อนรับการตรวจประมาณ 10 - 12 ชั่วโมง  ยกเว้นโปรแกรมก่อนสมรส ทั้งหญิงและชาย
        2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความคล่องตัวดี ไม่คับจนเกินไป สามารถพับแขนเสื้อขึ้นได้ง่าย เพื่อความสะดวกในการรับการตรวจเลือดและการตรวจร่างกาย
        3. สำหรับสตรีที่ต้องการตรวจภายใน และตรวจมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ตรวจหลังหมดประจำเดือนแล้วอย่างน้อย 7 วัน
        4. ควรนำผลการตรวจเดิมมาด้วย เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบและวิเคราห์ผล 

        การตรวจวิเคราะห์ บอกอะไรคุณบ้าง

        ตรวจปัสสาวะ (UA)  เป็นการตรวจเบื้องต้น เนื่องจากในปัสสาวะมีสารเคมีและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สามารถเป็นข้อมูลที่จะแสดงถึงภาวะความผิดปกติของร่างกายได้
        ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC)  เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้น ได้แก่ ความเข้มข้นของเลือด เม็ดเลือดแดงอัดแน่น จำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาว และปริมาณเกร็ดเลือด
        ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)  เป็นการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน กรณีระดับน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ปกติควรต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ชัดเจน สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน พฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
        ตรวจหาไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol)  ระดับโคเลสเตอรอลสูง ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดอุดตัน เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองตีบในอนาคต
        ตรวจหาไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)  เป็นไขมันอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญ  ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงถือเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมอบตีบในอนาคต
        ตรวจไขมันความหนาแน่นสูง (ไขมันดี / ไขมันป้องกัน) (HDL)  การลดลงของ HDL จะทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ง่าย
        ตรวจไขมันความหนาแน่นต่ำ (ไขมันที่ไม่ดี) (LDL)  การเพิ่มขึ้นของ LDL เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดอุดตันในอนาคต เนื่องจาก LDL จะนำไปสะสมที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงผนังของเส้นเลือด
        ตรวจกรดยูริคในเลือด (Uric Acid)  ระดับยูริคในเลือดที่สูง จะสะสมอยู่ในข้อและเนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดโรคเกาท์ได้ และอาจขับออกมาทางไตและตกผลึกเป็นนิ่วในไตได้
        การทำงานของไต (BUN Creatinine)  BUN เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนและขับออกมาทางไต  Creatinine เกิดจากการย่อยสลายของสารเคมีในกล้ามเนื้อและขับออกมาทางไต  BUN และ Creatinine จึงใช้เป็นตัวประเมินสมรรถภาพการทำงานของไต กรณีที่มีระดับสูงกว่าปกติแสดงว่าการทำงานของไตบกพร่อง
        การทำงานของตับ (SGOT / SGPT)  SGOT และ SGPT เป็นเอนไซม์ที่สำคัญในตับ  ถ้าระดับ SGOT และ SGPT สูงขึ้น แสดงว่ามีการอักเสบ หรือการถูกทำลายของเซลล์ตับ ซึ่งช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของหน้าที่ตับ โรคตับอักเสบ ตับแข็งระยะเริ่มต้น
        ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBs Ag) ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี         
        ตรวจหาภูมิไวรัสตับอักเสบ บี (HBs Ab)  ค้นหาว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือไม่ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน
        ตรวจความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทางเดินอาหาร (CEA)  เพื่อหามะเร็งในลำไส้ก่อนพบอาการ
        ตรวจความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)  เพื่อดูระดับความเสี่ยงก่อเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเริ่มแรก
        ตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูก (PAP smear)  เพื่อหามะเร็งเริ่มแรกในช่องคลอดและมะเร็งมดลูกในระยะเริ่มแรก  
        ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)  ช่วยในการวินิจฉัยการเต้นผิดปกติของหัวใจ ดูขนาดของหัวใจและพยาธิสภาพของหลอดเลือดของหัวใจ
        ทดสอบสมรรถภาพของหัวใจโดยวิ่งเครื่องสายพาน (Exercise Stress Test)  มีจุดมุ่งหมายเพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
        เอกซเรย์ปอด (Chest X-ray)  ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นของปอดและอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ในช่องอก คือ หลอดลม ปอด หัวใจ กระดูกซี่โครง และกระบังลม  โรคที่อาจพบได้ เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอด หัวใจโต และโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
        อัลตร้าซาวนด์ช่องท้องส่วนบน (U/S Upper Abdomen)  เพื่อดูตับและถุงน้ำดีหรือรอยโรคในช่องท้อง
        อัลตร้าซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง (U/S Lower Abdomen)  เพื่อดูต่อมลูกหมาก อุ้งเชิงกราน และโรคสตรี